โควิด-19 กับการประสานงา(น)

ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 15 มกราคม 2564

เมื่อเดือน กันยายน 2563 องค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO) ได้ผลิตคลิปสารคดี 2 ภาษา “ไทย-อังกฤษ” ชื่นชมระบบสาธารณสุขของไทยในการควบคุมโรคโควิด -19

ในเดือน พฤศจิกายน 2563 องค์การอนามัยโลก ได้ทวิตชื่นชมไทยต่อการรับมือสถานการณ์การระบาดโควิด-19

นพ.ทีโดรส  ผอ.องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวชื่นชมพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นที่ให้การสนับสนุนการทำงานของ WHO ยกให้ไทยเป็นประเทศตัวอย่าง ที่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19  สามารถควบคุมได้ แม้ยังไม่มีวัคซีน สถิติผู้ติดเชื้อในไทยได้พิสูจน์ว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่มีผู้ติดเชื้อ นอกประเทศจีน แต่มีกรณีผู้ติดเชื้อเพียงสี่พันคน และผู้เสียชีวิตหกสิบคนเท่านั้น  ทั้งๆที่ไทยมีประชากรถึง 70 ล้านคน และมีเมืองที่มีผู้คนหนาแน่นอันดับต้นๆ ของโลก   สิ่งที่ไทยทำสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการวางรากฐานของระบบสาธารณสุข  มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน( อสม.) กว่าหนึ่งล้านคน มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการควบคุมการระบาด
ของโควิด-19 ทั้งยังขอให้ทุกประเทศทั่วโลก ทำตามสิ่งที่ไทยทำ  

การจัดอันดับดัชนีที่แสดงถึงการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 (Global COVID-19 Index (GCI) นั้น  ไทยได้รับการจัดอันดับหนึ่งในโลกในด้านการฟื้นตัวจากการโควิด-19   ไทยได้รับการประเมินให้ได้คะแนนดีที่สุดในมิติด้านการฟื้นตัว (Global Recovery Index) และมิติด้านความรุนแรงของการระบาด (Global Severity Index) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ของสหรัฐ ซึ่งรายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพ (2019 Global Health Security Index) ที่มีการจัดอันดับประเทศทั้งหมดรวม 195 ประเทศในช่วงปลายปีพ.ศ. 2562  พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลกและอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย พร้อมยกย่องว่า ไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดได้มากที่สุด

ถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจของคนไทย  ที่น่าเศร้า คือ ดีใจไม่ยังทันข้ามปี เพราะช่วงกลางเดือน ธันวาคม 2563  กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร เกือบ 700 ราย ส่วนมากเป็นแรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานในอุตสาหกรรมประมง ที่ซ้ำร้าย คือ ผู้ติดเชื้อจากสมุทรสาครกระจายอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และ นครปฐม  นับว่าเป็นการพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดในไทย จนทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ต้องสั่งปิดตลาดกลางกุ้งอาหาร  หลังพบเจ้าของแพกุ้งวัย 67 ปี ติดเชื้อโควิด-19  แม้กระทั่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและภรรยายังติดโควิด-19 ด้วย

การลักลอบขนแรงงานเถื่อน จึงถูกยกมาเป็นประเด็นว่า  อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดในรอบนี้   มีการเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง  ก่อนที่จะแพร่กระจายในพื้นที่หลายจังหวัดคงต้องติดตามว่า รัฐบาลเอาผิดกับ ผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการนำแรงงานเถื่อนได้หรือไม่?  เพียงใด?  ที่ผ่านมาการลักลอบขนแรงงานเถื่อนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  ตามแนวชายแดนทางน้ำ ไทยมีแนวเขตทางบก 5,656 กิโลเมตร มีจังหวัดติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 32 จังหวัด 128 อำเภอ ถ้าเป็นคนธรรมดาแอบลักลอบเข้ามาคงทำได้เพียงไม่กี่คน แต่การลักลอบแต่ละทีมีนับสิบนับร้อยคน

เหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด ยังมีสาเหตุมาจากการปล่อยปละละเลย หรือสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่ให้มีบ่อนการพนันผิดกฎหมาย  สนามชนไก่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดตราด  ชลบุรี ระยอง สิงห์บุรี อยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี  แม้กระทั่งกรุงเทพฯ  ถ้าย้อนไปในอดีตตอนที่นายกรัฐมนตรีรับตำแหน่งใหม่ๆ ท่านเคยกล่าวว่า จะจัดการเรื่องบ่อนอย่างจริงจัง มีการเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบ่อน มาปรับทัศนคติ แต่ปัจจุบันกลับมีบ่อนเกิดขึ้นมากมาย บางแห่งห่างไม่เกิน 3 กิโลเมตรจากสถานีตำรวจ
กลุ่มแรงงานต่างด้าวและบ่อน ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปตามที่ต่าง ๆ ไม่ต่างจากไฟลามทุ่ง  ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 จังหวัดอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่วันจากวันขึ้นปีใหม่พ.ศ.2564 จนที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติยกระดับให้พื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ 5 จังหวัดนี้จะถูกแทนที่ด้วยสีแดงเลือดหมู ศบค.ย้ำว่า  “ไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่เป็นการทำให้เกิดความเข้มงวดขึ้นมา”  เงื่อนไขการเปิดดำเนินการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดจะต่างกันตามพื้นที่   ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณามาตรการให้เหมาะกับพื้นที่   

ผู้เดินทางเข้า-ออก 5 จังหวัดนี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ
ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือฝ่ายปกครองที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.    

แม้ไม่ใช่การล็อกดาวน์ การควบคุมเช่นนี้เป็นการล็อกดาวน์โดยนัย  การขอรับเอกสารรับรอง ด้วยตนเองกับทางราชการ อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อ  เพราะทำให้เกิดความแออัดต้องต่อคิว  การขอรับรองผ่านแอปฯ  น่าจะมีส่วนช่วยให้ไม่แออัด และ ไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ แต่ไม่ได้ทำ

ภาครัฐบาลสร้างความสับสนให้กับประชาชนจำนวนไม่น้อย  เมื่อมีประกาศยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ว่า ต้องมีแอปฯ “หมอชนะ” ควบคู่ “ไทยชนะ”   หากพบว่า ใครป่วยเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอปฯ “หมอชนะ” ในโทรศัพท์มือถือ  ถือว่าละเมิดข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   ต่อมา นายกรัฐมนตรี และนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กลับลำบอกว่า   มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน  เจตนาที่แท้จริงเป็นเพียงการขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่ใช้แอปฯ เพื่อคุมระบาด ไม่โหลดไม่ผิด ทั้งที่ประกาศดังกล่าว ได้ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษาและมีกำหนดโทษแล้วก็ตาม

ทั้งกรณีนายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้โพสต์ผ่านเพจอนุทินฯ  ประเด็นค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ลักลอบเข้าประเทศหรือทำผิดกฎหมาย ที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง  บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า  “ไม่ใช่การปฏิเสธการรักษา” แต่เป็นการรักษาไปก่อน ส่วนจะเรียกเก็บค่ารักษาได้หรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง มิฉะนั้นคนที่ติดเชื้อจะไม่ได้รับการรักษา ทั้งอาจไม่กล้าไปรักษา กลับกลายเป็นการกระจายเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งเป็นอันตรายต่อประชาชนในวงกว้าง

ไม่ว่ารัฐบาลและทางราชการจะดำเนินการใดๆ เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ควรจะดำเนินการด้วยความรอบคอบและประสานงานกัน เป็นอย่างดี ก่อนที่จะออกคำสั่งหรือประกาศใดๆ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเกิดความสับสน จะได้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น