Hope Well…เป็น....Hope Less
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 26 มีนาคม 2564
ดร. รุจิระ บุนนาค
26 มีนาคม 2564
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
ย้อนไปช่วงปีพ.ศ.2533 มีการเปิดประมูลโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีนายมนตรี พงษ์พานิช ในรัฐบาลนายชาติชาย ชุณหะวัณโดยผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิ้งสัญชาติฮ่องกงระยะเวลาสัมปทาน 33 ปีโครงการก่อสร้างประกอบด้วยโครงสร้างยกระดับทางรถไฟขึ้นไปเหนือผิวการจราจร เพื่อลดจุดตัดกับทางรถยนต์ (Grade Crossing) และลดปัญหาการให้รถยนต์ต้องหยุดรอรถไฟ รวมเป็นระยะทาง 60 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปีผลตอบแทนรายปีรวม 30 ปี เป็นเงิน 53,810 ล้านบาท บริษัทโฮปเวลล์จะได้รับสิทธิ์สร้างถนนยกระดับเรียกเก็บค่าผ่านทางคู่ขนานกับทางรถไฟยกระดับ และได้รับสัมปทานเดินรถบนทางรถไฟยกระดับด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์สองข้างทางรวมเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่
หลังจากที่การก่อสร้างตามโครงการดำเนินการได้ 7 ปี ได้เกิดข้อพิพาทขึ้น การก่อสร้างดำเนินการล่าช้ากว่าแผนงานอย่างมาก ตามแผนกำหนดไว้ร้อยละ 89.75แต่การก่อสร้างทำได้เพียงร้อยละ 13.77 บริษัท โฮปเวลล์ อ้างเหตุที่ก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากรฟท. ไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง ซึ่งเป็นช่วงที่ บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินเเละปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านทำให้โครงการต้องล้มเลิก หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ในช่วงปีพ.ศ.2540-2541 กระทรวงคมนาคมจึงได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2541 โดยให้ถือว่าโครงการทุกอย่างที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรฟท. บริษัทโฮปเวลล์ จึงเรียกร้องค่าเสียหาย โดยดำเนินการร้องขอต่ออนุญาโตตุลาการให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาสัมปทานเป็นเงินจำนวน 56,000 ล้านบาท ในขณะที่รฟท. เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท
อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) คือ การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล เป็นกระบวนการที่คู่พิพาทตกลงกันให้บุคคลที่สามที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทนั้นเป็นผู้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว โดยคู่พิพาทจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาดและผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น
ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. คืนเงินชดเชยให้แก่บริษัท โฮปเวลล์เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกระทรวงคมนาคมและรฟท.จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งหมายความว่า กระทรวงคมนาคมและ รฟท. เป็นฝ่ายชนะคดี ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทโฮปเวลล์
บริษัทโฮปเวลล์ จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหมายความว่า บริษัทโฮปเวลล์ เป็นฝ่ายชนะคดี และคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน กระทรวงคมนาคมและรฟท. ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ เพราะการบอกเลิกสัญญาเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และต่อมาวันที่ 22พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 รฟท.ยื่นเสนอคณะรัฐมนตรีงดจ่ายค่าชดเชยค่าโง่และประสงค์สู้คดีต่อ
แต่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ศาลปกครองสูงสุดไม่รับพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่เพราะไม่เข้าเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 กระทรวงคมนาคมและรฟท. ได้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ว่าถูกกฎหมายหรือไม่ เกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่กำหนด ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ
คือวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
จนเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 ว่าศาลปกครองสูงสุดนับอายุความคดีโฮปเวลล์ผิดกฎหมาย คือนับจากวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ซึ่งความเป็นจริงควรนับจากวันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยอีกว่า มติที่ศาลปกครองสูงสุดนำมาที่ใช้อ้างอิงในการพิจารณาคดีนั้น ไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบและไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงนำมาบังคับใช้ไม่ได้
อาศัยเหตุเหล่านี้ กระทรวงคมนาคมและรฟท. จึง ยื่นรื้อคดีใหม่ได้
หลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์ให้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อแจ้งกลับไปยังกระทรวงคมนาคมและรฟท. สองหน่วยงานนี้ จะนำคำวินิจฉัยซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานข้อมูลใหม่ ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอรื้อฟื้นคดีจ่ายค่าเสียหายโฮปเวลล์
ทั้งนี้ การที่กระทรวงคมนาคมและรฟท. จะต้องจ่ายค่าเสียหายหรือไม่ ต้องรอผลคำวินิจฉัยของศาลปกครองอีกครั้งหนึ่ง
หากผลคำวินิจฉัยถึงที่สุดออกมาว่า กระทรวงคมนาคมและรฟท. ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาทให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ ย่อมสร้างความปิติยินดีให้แก่ประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเงินค่าเสียหายที่จะต้องจ่าย ล้วนเป็นเงินมาจากภาษีอากรจากประชาชนในยามเศรษฐกิจตกยากนี้
แต่ประชาชนส่วนใหญ่มึนงงกับเหตุผลและหลักกฎหมาย ที่อ้างในคำพิพากษาของศาลต่างประเภทกัน ที่ให้ผลคำพิพากษาที่แตกต่างกัน
เหนือสิ่งอื่นใด ประชาชนธรรมดาๆ หวังแต่เพียงให้ ความยุติธรรมอยู่เหนือความอยุติธรรม
จำนวนการอ่าน 16 ครั้ง