วัคซีนโควิดกับสิทธิบัตร
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 8 มกราคม 2564
ดร. รุจิระ บุนนาค
8 มกราคม 2564
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO-World Health Organization)
ประกาศให้โคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก หลังจากเชื้อได้
ลุกลามไปอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาคของโลก โดยที่ประเทศไทยได้ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพ.ร.บ.โรคติดต่ออันตราย พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
โควิด-19 มีการแพร่เชื้อระหว่างคนในลักษณะเดียวกับไข้หวัดใหญ่ โดยผ่านการติด
เชื้อจากละอองเสมหะ จากการไอ จาม เข้าทางเยื่อเมือก ได้แก่ เยื่อบุดวงตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุช่องปาก
การป้องกันของทางสาธารณสุขทั่วโลก เช่น การให้สวมใส่หน้ากากอนามัย การแนะนำให้ล้างมือบ่อย พกเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างทางสังคม การปิดสถานศึกษาโดยให้เรียนระบบออนไลน์แทนการทำงานที่บ้านหรือ Work from Home ของภาครัฐและเอกชน การปิดประเทศห้ามเดินทางเข้าออก
แม้ทางสาธารณสุขทั่วโลกพยายามป้องกัน แต่ยอดผู้เสียชีวิตและติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นทุกวัน ข้อมูลล่าสุดในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 88 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 1.9 ล้านคน มีการคาดการณ์ว่า ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจเข้าสู่ 90 ล้านคน และผู้เสียชีวิตอาจทะลุ 2 ล้านคน เพราะบางวันมีผู้ติดเชื้อใกล้แตะ 7 แสนคน
วัคซีนจึงเป็นความหวังของทั่วโลกที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่
กลับมีประเด็นเกี่ยวข้องกับทางกฎหมายว่า วัคซีนเหล่านี้ไม่ได้ขอจดทะเบียนสิทธิบัตรยา เพราะหากจดทะเบียนสิทธิบัตรจะต้องใช้เวลากว่า 1 ปี ซึ่งไม่ทันต่อการป้องกันการแพร่ระบาด วัคซีนเหล่านี้จึงไม่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรยา
สิทธิบัตรยา เป็นการคุ้มครองโดยกฎหมายให้แก่ผู้ประดิษฐ์หรือคิดค้นทางด้านเวชภัณฑ์ หรือ เคมีภัณฑ์ รวมถึง สูตรใหม่ ส่วนผสมใหม่ วิธีการใช้ใหม่ เมื่อบริษัทยาพัฒนาวิจัยยาตัวใหม่ จะนำมายื่นขอรับสิทธิบัตร เพื่อผูกขาดการผลิตและจำหน่าย เป็นเวลา 20 ปี ผู้ผลิตยาสามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรยาในประเทศไทย ตามพ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2542 เมื่อได้รับสิทธิบัตรจะได้รับความคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่นคำขอจนถึงวันสิ้นอายุสิทธิบัตร
ดังนั้น หากผู้มีความรู้ดำเนินการวิศวกรรมย้อนกลับ หรือทบทวนสูตรย้อนกลับเพื่อผลิตวัคซีนตัวเดิมขึ้นเอง ผู้ที่คิดค้นวัคซีนโควิด-19 จะไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่กระบวนการดังกล่าว ยังไม่สามารถทำได้โดยง่าย เพราะกว่าจะคิดค้นและผลิตวัคซีนออกมาได้ ต้องใช้เวลานานและยุ่งยาก ต้องผ่านการทดลองหลายขั้นตอน และต้องผ่านการทดลองกับอาสาสมัครเป็นจำนวนมาก นับหลักพันถึงหลักหมื่นราย ว่าก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไร
แม้วัคซีนโควิด-19 จะไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องสิทธิบัตรยา แต่ยังได้รับความคุ้มครองในเรื่องความลับทางการค้า ที่ลูกจ้างหรือพนักงานที่ช่วยทำวัคซีน หากนำสูตรลับไปทำเองโดยไม่ได้คิดขึ้นใหม่ ผู้ที่คิดค้นทำวัคซีนสามารถเรียกร้องค่าเสียหายและดำเนินการทางกฎหมายได้
ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีกับสนธิสัญญาต่างประเทศใดๆทางด้านสิทธิบัตร หากผู้ทรงสิทธิบัตรได้สิทธิบัตรในต่างประเทศ แต่ไม่ได้มายื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศไทย ผู้ทรงสิทธิบัตรจะไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรดังกล่าวในประเทศไทย ดังนั้น ผู้ทรงสิทธิบัตรจึงจำเป็นต้องยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทย
วัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตมาใช้ตอนนี้มีหลายสูตรจากหลายบริษัท แต่ละบริษัทมีเทคโนโลยีที่ต่างกัน บริษัทหรือองค์กรที่อยู่แนวหน้า เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) ออกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา (Oxford-AstraZeneca) โมเดอร์นา (Moderna)
ไฟเซอร์ (Pfizer)และโมเดอร์นา (Moderna) ใช้เทคโนโลยี mRNA (Messenger RNA) ที่ใช้ตัวส่งสารเคมีกำกับเซลล์ให้สร้างโปรตีน ที่มีลักษณะคล้ายกับส่วนหนึ่งของเชื้อโคโรนาไวรัส เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจดจำว่า เชื้อลักษณะนี้เป็นเชื้อแปลกปลอม ส่วนออกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา (Oxford-AstraZeneca) จะใช้ตัว Spike Protein ของไวรัสถูกฉีดเข้ามาในร่างกาย กระตุ้นให้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายตอบสนอง เมื่อไวรัสจริงเข้าสู่ร่างกาย
การฉีดวัคซีนต้องฉีด 2 เข็ม ฉีดยี่ห้อไหน ต้องซ้ำยี่ห้อเดิม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงอย่างคาดไม่ถึง วัคซีนของไฟเซอร์และออกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา ใช้ได้ผลกว่าร้อยละ 90 วัคซีนของจีนที่พัฒนาโดยบริษัท Beijing Biological Products Institute ร่วมกับบริษัท China National Biotec Group (CNBG) ได้ผลร้อยละ 79.34 ส่วนของรัสเซียกำลังทดลองใช้กับอาสาสมัครไม่ครบตามขั้นตอน แต่ได้นำออกมาใช้ก่อน ทำให้เกิดความสงสัยในประสิทธิภาพ ทั้งมีข่าวว่า อินเดียและอิหร่านได้ผลิตวัคซีนออกมาใช้แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีข่าวเกี่ยวกับการทดลองและประสิทธิภาพในการใช้งาน
วิธีเก็บวัคซีนจะแตกต่างกัน เช่น ไฟเซอร์ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ราคาประมาณเข็มละ 650 บาท ออกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกาสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ราคาประมาณเข็มละ 130 บาท โมเดอร์นาต้องเก็บอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ราคาประมาณเข็มละ 1,000 บาท
เป็นที่สังเกตได้ว่า เมื่อมีการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง จนเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง จะทำให้ลักษณะพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 มีการเพี้ยนไปเรื่อยๆ เชื้อโควิด-19 ได้กลายพันธ์หลายสายพันธ์แล้ว ไม่มีใครรับรองได้ว่า วัคซีนจะคุ้มครองได้ทุกกรณีที่เชื้อโควิด-19 กลายพันธ์