ติดสินบนเจ้าหน้าที่
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 11 ธันวาคม 2563
ดร. รุจิระ บุนนาค
11 ธันวาคม 2563
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
เมื่อต้นเดือนธันวาคมพ.ศ. 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้พิพากษาจำคุก 3 ปี นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ กับนายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช จำเลยที่ 1-2 กรณีปลอมเอกสารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เรียกรับเงินค่าเช่าที่ดินจาก นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ น้องชายของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งนายสกุลธรได้จ่ายเงินให้รวม 20 ล้านบาท
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่จัดการดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามที่ทรงมอบหมาย การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
เพื่อการข้างต้น พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใด เป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จะมีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" ประกอบด้วย ประธานกรรมการและคณะกรรมการอื่น
ในจำนวนนี้จะมีผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่กรรมการ และเลขานุการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นหน่วยงานราชการ เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลงานของพระมหากษัตริย์ ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ถูกแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็น“เจ้าพนักงานของรัฐ”ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
จำเลยที่ 1 และ2 ได้ร่วมกันทำเอกสารราชการของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ปลอมขึ้นทั้งฉบับเรื่อง “การพัฒนาที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม)” ถึง นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในหนังสือนี้มีการลงลายมือชื่อปลอมของนายสุรพล เล็กเลิศผลเจ้าพนักงานสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เนื้อความในหนังสือมีสาระสำคัญในทำนองว่า บริษัท เรียลแอสเสท ฯ ได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนในเบื้องต้นขอให้ยื่นแผนการพัฒนาพื้นที่และการลงทุน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจและไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด อีกทั้งหนังสือฉบับดังกล่าวไม่ได้ออกโดยฝ่ายบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลจัดประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รวมถึงพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม)
นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้หลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริงของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เชื่อว่าบริษัทของตนจะได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าว ที่มูลค่าถึง 500 ล้านบาท โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติของการขอเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีการจ่ายเงินให้กับจำเลยทั้งสองรวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท โดยงวดแรกจ่ายจำนวน 5,000,000 บาทงวดที่สอง จำนวน 5,000,000 บาท และงวดที่สามอีกจำนวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยทั้งสองจะร่วมกันไปดำเนินการติดต่อประสานงานและนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้เจ้าพนักงานของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์(ตามที่จำเลยทั้งสองอ้าง)
ความหวังที่จะได้พัฒนาที่ดินแบบไร้คู่แข่งต้องพังทลาย กลายเป็นว่านายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ กลับถูกจำเลยทั้งสองหลอก พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 4ได้ฟ้องจำเลยทั้งสอง เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมฐานร่วมกันเป็นตัวกลางในการเรียกรับสินบน
คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดซื้อจัดจ้าง จัดประชุม จัดประมูลจึงไม่เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน เพราะไม่มีความเป็นเจ้าพนักงาน แต่มีความผิดฐานเป็นคนกลางเรียกรับสินบน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเอกชน จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยความเคารพในคำพิพากษา มีผู้เห็นแย้งเป็นจำนวนมากว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานอยู่แล้ว ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคนทั่วไป จึงสมควรรับผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย คือ มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นบุคคลนั้นได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดนั้น บุคคลนั้นต้องไม่เป็นผู้เข้าไปเกี่ยวข้องร่วมกระทำความผิดนั้นด้วย (ผู้เสียหายโดยนิตินัย)
เรื่องนี้ประชาชนส่วนหนึ่งได้ให้ความสนใจ เพราะเกิดความกังขาว่า ทำไมพนักงานสอบสวน จึงไม่สั่งฟ้องนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เห็นชัดๆว่ามีการให้เงินถึง 3 งวด เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับจากการไม่ต้องเข้าไปประมูล และเกรงว่าอาจซ้ำรอยกรณีคดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง จะต้องมีคำตอบให้สังคมอย่างชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรม ไม่ให้ถูกทำลายด้วยเงินของนายทุน
หลังจากศาลพิพากษาไม่กี่วัน นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นหนังสือถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้ดำเนินการสอบสวนร้อยเวรเจ้าของคดี และผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีว่า เหตุใด จึงไม่มีการสั่งฟ้องนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีที่มีการให้เงินสินบนเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 20 ล้านบาท
ทางด้านนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่อ้างว่าถูกจำเลยทั้งสองถูกหลอกลวง ซึ่งถือว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับเเต่วันที่รู้เรื่องความผิดเเละรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่ไม่ปรากฏว่านายสกุลธรจึงรุ่งเรืองกิจ ได้ไปแจ้งความแต่อย่างใด ยิ่งทำให้เกิดข้อกังขามากขึ้น
ต้องติดตามดูต่อไปว่า จะลงเอยอย่างไร
จำนวนการอ่าน 75 ครั้ง