ตากข้าวบนถนน
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 27 พฤศจิกายน 2563
ดร. รุจิระ บุนนาค
27 พฤศจิกายน 2563
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
ช่วงเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาการตากข้าวบนถนนในหมู่บ้านถนนสายหลัก มีให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง
การตากข้าวเปลือกหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ถือเป็นการลดความชื้นในเมล็ดข้าวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะความชื้นจะทำให้เชื้อราต่าง ๆ ที่ติดมากับเมล็ดขยายพันธุ์ได้ จนสามารถทำลายเมล็ดข้าวเปลือกได้เป็นจำนวนมาก ความชื้นยังทำให้ข้าวเปลือกเสียราคา เพราะเมื่อนำไปจำหน่ายให้แก่โรงสีจะถูกหักค่าความชื้นในเมล็ดข้าวการตากข้าวยังสามารถรักษาคุณภาพของข้าวไว้ได้นานยิ่งขึ้น
การตากข้าวเปลือกบนถนนจะใช้เวลาตากข้าวประมาณ 2-3 วันจึงจะแห้งและจัดเก็บได้ส่วนการตากในลานดินชาวนาจะต้องเตรียมลานดินให้พื้นดินแข็งและเรียบใช้เวลาในการตาก 5- 10วัน และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมลานดินชาวนาจึงไม่นิยมใช้ลานดินในการตาก
นอกจากการลดความชื้นโดยวิธีการตากข้าวเปลือกบนถนน บางแห่งจะมีการใช้เครื่องอบ แต่จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่เลือกที่จะตากข้าวบนถนน
ลักษณะการตากข้าวเปลือกชาวนาจะใช้ตาข่ายวางไว้บนพื้นถนนและเทข้าวเปลือกลงไปในช่วงกลางวันจะเกลี่ยข้าวเปลือกให้แสงแดดส่องถึงพอตกกลางคืนจะทิ้งข้าวเปลือกไว้ที่ถนนโดยใช้ตาข่ายคลุมไว้และใช้วัสดุอื่นๆวางทับ
ชาวนาบางรายอาจต้องการให้คนขับรถรู้ว่ามีการตากข้าว เช่น ทำป้ายเตือน วางกรวยสะท้อนแสง แต่บางครั้งตากโดยไม่มีการแจ้งเตือน และมองข้ามไปว่า อันตรายอาจเกิดต่อผู้ขับรถ
นักวิชาการได้อธิบายว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีขึ้นกับคนขับรถผ่านพื้นที่ที่มีการตากข้าวบนถนนเกิดขึ้นได้ แม้คนขับจะไม่ได้ใช้ความเร็วมาก เช่น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมองเห็นว่ามีข้าวเปลือกตากอยู่ แต่การจะตัดสินใจหยุดรถนั้น ต้องใช้เวลาตัดสินใจประมาณ 2 วินาที ช่วงเวลานั้นรถสามารถเคลื่อนไปได้อีก 32 เมตร คนขับจึงไม่สามารถหยุดรถได้ทัน
ในกรณีที่เป็นการขับตามกันมาแบบกระชั้นชิด เมื่อรถคันหน้าหยุดหรือหลบกะทันหัน รถคันหลังจะไม่มีระยะเวลาเพียงพอในการหยุดรถหรือหักหลบได้ทัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุหมู่ได้
ทั้งกรณีที่หักหลบข้าวเปลือกที่ตากบนถนน หรือ บางกรณีมีผ้ายางปูรอง ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้รถลื่นไถลหรือพลิกคว่ำได้ เพราะพื้นขาดแรงเสียดทาน และผ้าใบอาจจะม้วนไปอยู่ใต้ท้องรถ ทำให้รถพลิกคว่ำได้
การตากข้าวเปลือกบนถนนมีความผิดตามกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 39 มีหลักว่า ห้ามนำสิ่งใดมาวางขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางหลวง ในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 72 คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 114 มีหลักว่า ห้ามวางสิ่งใด หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ที่เป็นการกีดขวางทางจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 148 คือ ปรับไม่เกิน 500 บาท
พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 19 57 มีหลักว่า ห้ามวางหรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 57คือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ผู้ใดกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของหรือกระทำด้วยประการอื่นใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
แม้จะมีโทษตามกฎหมาย แต่เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวทีไร ชาวนายังคงอาศัยถนนเป็นที่ตากข้าว ทำให้เกิดอุบัติเหตุเรียกได้ว่าทุกๆปี ความรุนแรง ความเสียหายมากน้อยต่างกัน ที่น่าเศร้า คือ บางครั้งมีผู้เสียชีวิต
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562 เกิดอุบัติเหตุรถกระบะหักหลบกองข้าวเปลือกที่ตากบนถนนชน 3 คันรวด มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 3 ราย บนถนนสายบ้านพลจลก -สระวารี หมู่ที่ 8 ตำบลมะค่า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562 นักเรียน ม.3 สองคนที่ขับรถจักรยานยนต์ชนกองข้าวเปลือกที่ตากริมถนน ทำให้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 1 ราย ที่จังหวัดบุรีรัมย์
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 เจ้าของร้านยางที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ขับรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ยี่ห้อ Ducati MultistradaEnduroกลับบ้านกลางดึก พุ่งชนกองข้าวเปลือกที่ตากบนถนน จนรถล้มพังเสียหายและได้รับบาดเจ็บบริเวณเข่า เท้า และระบมตามตัว เจ้าของร้านยางได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) ได้ขับชนกองข้าวเปลือก แต่ไม่เป็นอะไรมาก มาปีนี้ได้รับบาดเจ็บ จึงต้องการเตือนภัยผู้ขับขี่ให้ใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น โดยไม่คิดจะเอาเรื่องกับเจ้าของกองข้าวเปลือก แต่กลับเจอหลานเจ้าของกองข้าวเปลือกโพสต์สวนกลับว่าขับรถเร็วเอง ทำให้เจ้าของร้านยางเปลี่ยนใจ แจ้งความเอาผิดกับเจ้าของกองข้าวเปลือก
กรณีของเจ้าของร้านยาง ระยะทางที่ชาวนาตากไม่ต่ำกว่าหนึ่งกิโลเมตรบางจุดมีกรวยตั้งแต่บางจุดมีเพียงกิ่งไม้เท่านั้น โดยส่วนใหญ่อ้างว่าไม่มีสถานที่ตาก และตากบนถนนแห้งเร็ว แม้จะรู้ว่าผิดกฎหมาย แต่เมื่อไม่มีสถานที่ให้ตาก จึงต้องใช้ถนนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มีการเสนอสำหรับทางออกในเรื่องนี้ คือ ควรหาพื้นที่ส่วนกลางเพื่อมาตากข้าว ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ลานวัด พื้นที่โล่งในชุมชน
แม้ทางออกนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง แต่เป็นเพียงชั่วคราว ถ้าโรงเรียนมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ประกอบกิจกรรม หรือวัดต้องใช้พื้นที่ประกอบศาสนพิธี ชาวนาจะทำเช่นไร
ถึงเวลาแล้วที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องหาทางออกในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แก้ไขปัญหาอย่างถาวร จัดพื้นที่ที่ชาวนาสามารถใช้ได้ทุกปี แทนที่การตากข้าวเปลือกบนท้องถนน มิฉะนั้นอุบัติเหตุที่เกิดจากการที่ผู้ขับหลบกองข้าวเปลือกคงยังปรากฏให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จำนวนการอ่าน 40 ครั้ง