ประธานาธิบดี ทรัมป์ ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 13 พฤศจิกายน 2563
ดร. รุจิระ บุนนาค
13 พฤศจิกายน 2563
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ได้สร้างความสนใจให้แก่ชาวโลกเป็นอย่างมาก เพราะคู่ชิงประธานาธิบดีทั้งสองคน คือ โดนัล ทรัมป์ และ โจ ไบเด้น มีนโยบายในการหาเสียง ต่างกันสุดขั้ว ไม่ว่าใครจะได้รับเลือก เป็นประธานาธิบดี ย่อมมีผลกระทบต่อประชาคมโลก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีข่าว ที่กล่าวถึงผู้สมัครจากพรรคเดโมเครท และพรรครีพับลิกัน ราวกับว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียง 2 คนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วจะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคน บางครั้งอาจมากกว่า 10 คน ส่วนมากบุคคลเหล่านั้นมักจะถูกมองว่า เป็นม้านอกสายตา และอยากดัง อย่างไรเสียก็ไม่มีโอกาสได้รับเลือก สื่อมวลชนจึงไม่ได้กล่าวถึง
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งทางตรง แม้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นประชาธิปไตย แต่กลับเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม
ประชาชนสหรัฐ เมื่อลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี จะเลือก 2 ครั้ง ครั้งแรกจะเลือกคณะผู้แทนประจำมลรัฐ เพื่อให้คณะผู้แทน ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเรียกว่า Electoral Vote ครั้งที่สองเป็นการเลือกประธานาธิบดีแบบทางตรง เรียกว่า Popular Vote ถือเป็นคะแนนเลือกตั้ง ที่ไม่เป็นทางการ เพราะไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ถือว่าเป็นสิ่งชี้วัดที่สำคัญ
จำนวน Electoral Vote ในแต่ละรัฐ จะเท่ากับจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐนั้น (ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร) รวมกับจำนวนที่วุฒิสมาชิก (รัฐละ 2 คน) ส่วนเมือง Washington DC ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ จะมี Electoral Vote 3 เสียงเป็นกรณีพิเศษ
Electoral Vote ทั้งประเทศจะมีทั้งหมด 538 เสียง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ที่ได้รับคะแนนเสียง Electoral Vote เกินครึ่งจะได้เป็นประธานาธิบดี ดังนั้นเป็นธรรมเนียมที่ถือว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนเสียง Electoral Vote 270 เสียงจึงจะเป็นประธานาธิบดี
คณะผู้แทน ที่จะไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีเรียกว่า Electoral College ซึ่งจะไปออกเสียงลงคะแนนในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ในเมือง Washington DC และผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจะเข้ารับตำแหน่ง เพื่อบริหารประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 20 มกราคม 2564
หากพิจารณาตามหลักตรรกะวิทยา ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนน Popular Vote ซึ่งเป็นการเลือกทางตรงมากกว่า สมควรที่จะได้รับคะแนน Electoral Vote ซึ่งเป็นการเลือกทางอ้อมมากกว่าเช่นกัน และควรจะได้เป็นประธานาธิบดี
แต่แนวคิดนี้ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่แล้วเมื่อ ปีพ.ศ. 2559 ฮิลลารี คลินตันได้รับคะแนน Popular Vote มากกว่า แต่โดนัล ทรัมป์ ได้รับคะแนน Electoral Vote มากกว่าจึงได้เป็นประธานาธิบดี ส่วนฮิลลารี คลินตันจึงพลาดโอกาสเป็นประธานาธิบดีอย่างน่าเสียดาย เหตุการณ์ทำนองนี้ได้เกิดขึ้นมาทั้งหมดแล้วถึง 5 ครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ได้รับเลือก Electoral Vote ชนะในรัฐใด จะได้คะแนนเสียงทั้งหมดของ Electoral Vote ในรัฐนั้น (Winner takes all)
รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ร่างเมื่อ 200 กว่าปีก่อน ในสมัยนั้นการนับคะแนนทำได้ล่าช้า และการเดินทางลำบาก หากจะกำหนดให้เป็นการเลือกตั้งทางตรงและรวมคะแนนทั้งหมดเพื่อเป็นผลจากแพ้ชนะ ทำให้ไม่สะดวกและใช้เวลานานเกินไป จึงกำหนดเป็นการเลือกตั้งแบบคณะผู้แทน ซึ่งเหมาะสมสำหรับในยุคนั้น แต่อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ล่าสุดแม้ผลการนับคะแนน ยังไม่เสร็จอย่างเป็นทางการ โจ ไบเด้นได้รับคะแนน Electoral Vote ถึง 279 คะแนน ในขณะที่โดนัล ทรัมป์ ได้เพียง 214 คะแนน
แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แสดงท่าทีว่า ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าถูกโกง และมีข้อพิรุธ นอกจากนี้ยังกล่าวได้ว่า จะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ในการส่งมอบตำแหน่งประธานาธิบดี และจะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้การเลือกตั้งต้องนับคะแนนใหม่และอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ประเด็นนี้นับว่าไม่เกินความคาดหมายของผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง เพราะทรัมป์ เมื่อเป็นนักธุรกิจก่อนที่จะเป็นประธานาธิบดี ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาคาร และอสังหาริมทรัพย์ เมื่อจ้างสถาปนิก และผู้รับเหมาให้ก่อสร้างมักจะมีปัญหาไม่จ่ายเงินงวดสุดท้าย ทำให้เจ้าหนี้หลายรายถอดใจ ไม่ฟ้องคดีเรียกเงินงวดสุดท้าย เพราะค่าทนายความในประเทศสหรัฐอเมริกาแพงมาก อาจไม่คุ้มหรือได้ไม่เท่าเสีย
หากผลการเลือกตั้งปรากฏว่า โจ ไบเด้น ได้เป็นประธานาธิบดี และ ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการส่งมอบอำนาจ ให้โจ ไบเด้นเข้ารับตำแหน่งและบริหารงานเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2564 นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง
เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปีพ.ศ.2344 ที่ประธานาธิบดีจอห์น อดัมส์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของ สหรัฐอเมริกาแพ้การเลือกตั้ง โทมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนใหม่ และไม่ยอมส่งมอบอำนาจให้ ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับใช้ในขณะนั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เมื่อถึงเวลาต้องส่งมอบอำนาจ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนหยุดการติดต่อและหยุดการปฏิบัติงานให้แก่อดีตประธานาธิบดีจอห์น อดัมส์ ในที่สุดอดีตประธานาธิบดีจอห์น อดัมส์ไม่สามารถทนอยู่ในทำเนียบขาวต่อไปได้ และต้องออกจากทำเนียบขาวไปอย่างอัปยศอดสู
เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีก เมื่อกงล้อประวัติศาสตร์ได้หมุนเวียนกลับมาอีกครั้ง
ไม่ว่าการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นเช่นไร ยังถือว่ามีภาพที่สวยงาม ในการแข่งขันนำเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก ถ้าประชาชนเลือกผิดเท่ากับถูกลงโทษ ต้องเจ็บปวดและจดจำไปจนกว่าจะเลือกตั้งใหม่ ต้องยอมรับผลของการตัดสินใจและการเลือกของตนเอง
ภาพเช่นนี้ยังไม่ค่อยเห็นได้ชัดเจนในประเทศไทย
จำนวนการอ่าน 119 ครั้ง