บอสกระทิงเเดง
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 31 กรกฎาคม 2563
ดร. รุจิระ บุนนาค
31 กรกฎาคม 2563
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงว่า นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาท “กระทิงแดง” หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมดในคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับหนังสือคำสั่งเด็ดขาดว่า ไม่ฟ้องคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จากอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563
กรณีนี้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะในตอนแรกสื่อมวลชนในประเทศไทยไม่ทราบเรื่องนี้เลย กลับเป็นสำนักข่าว CNN ของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำเสนอข่าวนี้ก่อนสื่อมวลชนไทยจึงเกาะติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิดในภายหลัง ราวกับเป็นเรื่องที่ลึกลับในประเทศไทย เพื่อให้เป็นผลว่า คดีได้สิ้นสุดแล้ว ผ่านไปนานมากแล้ว จะแก้ไขหรือทำอะไรอีกไม่ได้
สรุปข้อหาคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา มีดังนี้
(1) ขับรถในขณะเมาสุรา ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 สั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องเพราะเห็นว่า เมาหลังขับ เนื่องจากเชื่อว่า ผู้ต้องหาเกิดความเครียดหลังขับรถชน จึงไปดื่มแอลกอฮอล์ในภายหลัง
(2) ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 คดีขาดอายุความปีพ.ศ. 2556
(3) ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหายตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 คดีขาดอายุความ ปีพ.ศ. 2556
(4) ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ และไม่แจ้งเจ้าพนักงาน ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 สั่งฟ้อง มีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน คดีขาดอายุความ 3 กันยายน พ.ศ. 2560
(5) ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 สั่งไม่ฟ้อง
คดีทายาทกระทิงแดง ไม่เป็นเพียงแต่เป็นที่จับตามองในประเทศไทย สื่อต่างประเทศ
ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากเกิดเหตุ นายบอสไม่ได้ถูกจับกุมดำเนินคดี แต่กลับขอเลื่อนพบพนักงานอัยการเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาจำนวน 7 ครั้ง อ้างเหตุติดธุระและเดินทางไปต่างประเทศ
ความล่าช้าของคดีมีมาโดยตลอด ในหลายขั้นตอน เจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 11 คน ถูกชี้มูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เพื่อให้เกิดผลดี หรือความก้าวหน้าแก่ราชการ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการและประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ถูกลงโทษด้วยการกักยาม ภาคทัณฑ์ นับว่าเป็นโทษที่เบามาก
ทั้งพยานหลักฐานยังอยู่ในที่เกิดเหตุ ประกอบกับนายบอสรับสารภาพ ซึ่งน่าจะดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว แม้นายบอส จะใช้ช่องทางร้องขอความเป็นธรรมหรือประวิงคดีด้วยเหตุผลต่างๆ หากเร่งรัดดำเนินการให้คดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีโดยศาล สถิตย์ยุติธรรม คดีคงถึงที่สุดไปนานแล้ว
สำหรับคดีอาญาความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือเสียชีวิต หากเป็นคดีทั่วไปพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วเพราะไม่สลับซับซ้อนแต่อย่างใด คนขับรถชนส่วนใหญ่ จะสำนึกผิดพร้อมบรรเทาความเสียหายให้ผู้เสียหายหรือญาติ จนไม่ติดใจเอาความ และเมื่อถึงชั้นศาล มักจะรอลงอาญา (ไม่ต้องรับโทษ) เพราะไม่ใช่คดีที่ทำผิดโดยเจตนา
ในที่สุดพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
แต่เดิมนั้น ตำรวจพิสูจน์หลักฐานผู้พิจารณาความเร็วรถยนต์ขณะเกิดเหตุ มีความเห็นว่า นายบอสขับรถด้วยความเร็ว 174 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงเป็นกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต่อมาอัยการมีคำสั่งให้พลังงานสอบสวนสอบพยานเพิ่มอีก 6 คน พยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นตำรวจพิสูจน์หลักฐานคนเดิมมีความเห็นใหม่ว่า ความเร็วรถในขณะนั้น คือ 76.175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยอ้างว่า ใช้วิธีคำนวณใหม่ (กลับความเห็นเดิม) ทั้งที่ในขณะตรวจสอบครั้งแรกเมื่อแปดปีก่อนอาจารย์ฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกท่านหนึ่งที่คำนวณความเร็วรถ เพื่อประกอบสำนวนสอบสวนในคดีนี้เช่นกัน ยืนยันตามหลักวิชาการว่า ความเร็วรถยนต์ 177 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจสอบ พบว่าที่พื้นมีคราบน้ำมันเครื่องของรถยนต์คันก่อเหตุ ไหลเป็นทางยาวตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 53 จนเข้าไปในหน้าเลขที่ 9 หรือบ้านอยู่วิทยา ความเร็ว 76.275 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่น่าจะเป็นไปได้
เหตุการณ์ผ่านไปกว่า 7 ปี กลับมีประจักษ์พยาน 2 คน