ภารกิจ...คณะราษฎร
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 3 กรกฎาคม 2563
ดร. รุจิระ บุนนาค
3 กรกฎาคม 2563
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) คือ ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองและมีสิทธิขาดในการบริหารประเทศ ในระบอบการปกครองนี้ พระมหากษัตริย์ คือ กฎหมาย ดังนั้นที่มาของกฎหมายทั้งปวงอยู่ที่พระมหากษัตริย์ คำสั่ง ความต้องการต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ล้วนมีผลเป็นกฎหมาย พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินและพลเมืองโดยอิสระ
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นวันที่กลุ่มบุคคลในนาม “คณะราษฎร” ซึ่งนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา (นาย พจน์ พหลโยธิน) ผู้นำฝ่ายทหาร และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นาย ปรีดี พนมยงค์) ผู้นำฝ่ายพลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มาสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญและปกครองโดยรัฐสภา การยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด
พระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ไม่ได้ทรงขัดขืน แต่ทรงให้ความร่วมมือ
พระราชทานรัฐธรรมนูญ เพราะพระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับถูกทักท้วงโดยคณะข้าราชบริพารในสมัยนั้น ด้วยเกรงว่าประชาชนยังอยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อม และอาจเกิดเป็นผลเสียมากกว่า
ย้อนกลับไปสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เคยมีกลุ่มบุคคลพยายามจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน หลังจากที่พระองค์ท่านได้เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเศษ
กลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นนายทหารและพลเรือนร่วม 90 คน ได้จัดตั้งสมาคม “อานาคิช (Anarchist)” หรือคณะ ร.ศ. 130 (พ.ศ.2455) ผู้ร่วมคณะเริ่มแรกมี 7 คน โดยมี ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) ผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นหัวหน้า มีเป้าหมายหลักที่จะต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
ผู้ก่อการได้วางแผนลอบปลงพระชนม์ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2455 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และวันขึ้นปีใหม่ มีการจับไม้สั้นไม้ยาว ผู้ที่ต้องลอบปลงพระชนม์ คือ ร.อ. ยุทธ คงอยู่ (หลวงสินาดโยธารักษ์) ได้เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไป กราบทูลหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และนำความไปกราบทูลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ต่อมาผู้ก่อการทั้งหมดถูกจับกุม เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 และถูกส่งตัว
ไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษ จนความทราบไปถึงรัชกาลที่ 6 และได้มีพระราชวินิจฉัย ให้ละเว้นโทษประหารชีวิตแก่ผู้ก่อการทั้งหมด คงไว้แต่โทษคุมขัง ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์ เพราะพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และทรงเข้าพระทัยในเรื่องประชาธิปไตยเป็นอย่างดี
เหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 เป็นแรงผลักดันให้คณะราษฎร ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยภายหลังการยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า “ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม” และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า “พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130”
24 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ถือเป็นวันครบรอบ 88 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครองที่นำโดยคณะราษฎร ในวันดังกล่าวพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ถือเป็นครั้งแรกที่กองทัพบกจัดพิธีรำลึกถึงพระองค์เจ้าบวรเดชและพ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้นำในการพยายามทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพื่อถวายคืนอำนาจให้พระมหากษัตริย์ กองทัพบกระบุว่า ทั้งสองเป็นผู้ที่ “ควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี” และ“ยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย”
ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562 กองทัพบกได้ตั้งชื่อห้องใหม่ 2 ห้อง ในอาคาร
พิพิธภัณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ว่า“บวรเดช” และ “ศรีสิทธิสงคราม”
การพยายามทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 12-16 ตุลาคม พ.ศ. 2476 รู้จักในชื่อ “กบฏบวรเดช” นำโดยนายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลคณะราษฎรให้ใช้การปกครองในรูปแบบของระบอบราชาธิปไตย ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และให้รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้อำนาจฝ่ายรัฐสภาในการตรวจสอบมากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาล ในสมัยนั้น กบฏบวรเดชได้ใช้กำลังทหารจากหัวเมืองทั้งอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี มีการปะทะกันที่บางเขน แต่คณะราษฎร สามารถปราบกบฏได้ พระยาศรีสิทธิสงคราม ถูกยิงเสียชีวิต ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและหม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากรพระชายา เดินทางหนีไปยังประเทศกัมพูชา นายทหารระดับสูงหลายนายเสียชีวิตในสมรภูมิ มีผู้เกี่ยวข้องถูกจับกุม 600 คน ถูกส่งฟ้องศาลพิเศษกว่า 300 คน ถูกตัดสินลงโทษร่วม 250 คน ถูกปลดจากราชการร่วม 120 คน
ปฏิบัติการต่อต้านการก่อกบฏบวรเดช นำมาสู่การสร้าง “อนุสาวรีย์หลักสี่” หรือ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” หรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ” ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช