น้องอมยิ้ม-อิ่มบุญ เหยื่อเงินบริจาค
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 29 พฤษภาคม 2563
ดร. รุจิระ บุนนาค
29 พฤษภาคม 2563
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
ข่าวน้องอมยิ้มและน้องอิ่มบุญ ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก เนื่องจากสังคมเคลือบแคลงใจ หลังจากที่แม่ปุ๊ก ถูกระบุว่าวางยาลูก หวังฮุบเงินบริจาคร่วม 20 ล้าน น้องอมยิ้ม วัย 4 ขวบ ได้เสียชีวิตลง ส่วนน้องอิ่มบุญ วัย 2 ขวบ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ
“แม่ปุ๊ก” เป็นชื่อที่รู้จักในเฟซบุ๊กในกลุ่มแม่และเด็ก ว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง นับจากปีพ.ศ.2561 แม่ปุ๊กได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก นำรูปน้องอมยิ้ม ที่หน้าตาบวม อาเจียนเป็นเลือด บางครั้งเป็นฟองสีขาว พร้อมบอกว่าไม่สามารถทำงานประจำได้ เพราะต้องดูแลลูกที่ป่วยเป็นโรคประหลาด มีเพียงหนึ่งในล้าน ลูกต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ ต้องขายสินค้าออนไลน์ และขอรับบริจาคเงินเพื่อนำมารักษาลูก ระหว่างที่น้องอมยิ้มอยู่โรงพยาบาล แม่ปุ๊กได้นำอาการของน้องอมยิ้มลงในเฟซบุ๊กพร้อมขอรับบริจาคทุกครั้ง แม้หลายคนได้ฉุกคิดว่า ทำไมยังมีเวลาถ่ายคลิปวีดีโอ แทนที่จะเอาเวลาไปดูลูก จนในที่สุดคิดว่า คงเป็นเพราะต้องการเงินบริจาค
น้องอมยิ้ม มีเลือดออกจากทางเดินอาหาร มีอาการอักเสบตามเยื่อบุต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา และมีความดันโลหิตสูงรักษาอยู่ประมาณ 8 เดือน เข้าออกโรงพยาบาลรวม 7 ครั้ง และเสียชีวิตด้วยภาวะตับและไตวายในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2562 วันที่น้องอมยิ้มจากไป แม่ปุ๊กยังไลฟ์สด จนน้องอมยิ้มหมดลม เป็นภาพสะเทือนใจต่อทุกคนที่เข้าไปดู แม้ในงานศพ ยังคงขอรับบริจาค
เรื่องราวดูเหมือนจะจบลง และแม่ปุ๊กคงจะมีเวลาเลี้ยงน้องอิ่มบุญได้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 แม่ปุ๊กได้โพสต์รูปและคลิปวีดีโอน้องอิ่มบุญ ที่มีอาการคล้ายกับน้องอมยิ้ม มีอาการปากบวม อุจจาระเหลวสีดำ บางคนคิดว่า คงเป็นโรคทางพันธุกรรม มีการขอรับบริจาค อ้างว่าประกันสุขภาพน้องอิ่มบุญวงเงิน 6 หมื่นบาทนั้น ไม่พอสำหรับค่ารักษา
คณะแพทย์ที่รักษาน้องอมยิ้มและน้องอิ่มบุญพบว่า ผลตรวจอาการป่วยของน้องอมยิ้มและน้องอิ่มบุญมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ พบสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน สันนิษฐานว่า น่าจะถูกผสมในอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างต่อเนื่อง ในกรณีของผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายด้วยการดื่มน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีสารกัดกร่อน จะมีลักษณะแผลใกล้เคียงแผลของน้องทั้งสองคน
พฤติกรรมของแม่ปุ๊กทำให้แพทย์รู้สึกถึงความผิดสังเกต เพราะตอนที่น้องอิ่มบุญ
อาการหนัก อาเจียนออกมาเป็นเลือดจนแทบสลบ แพทย์พยายามรักษายื้อชีวิต แต่แม่
ปุ๊กกลับมีใจถ่ายคลิป สีหน้าดูไม่กระวนกระวายต่ออาการเจ็บป่วยของลูกที่ขณะนั้นอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งเมื่อน้องอิ่มบุญได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลจนอาการดีขึ้น กลับบ้านได้ไม่กี่วัน อาการกลับทรุดหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลอีก
ยอดเงินที่แม่ปุ๊กได้รับบริจาคเพื่อช่วยน้องอมยิ้มและอิ่มบุญ ได้ร่วม 20 ล้าน บาท นับได้ว่า เป็นตัวเลขสูงมาก แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ ความสงสาร ความมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
เรื่องนี้ ต้องขอบคุณคณะแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่สังเกตพฤติกรรมแม่ปุ๊ก ทั้งได้ประสานงานให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับน้องอิ่มบุญไปดูแล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจ มิฉะนั้นจุดจบของน้องอิ่มบุญอาจไม่ต่างจากน้องอมยิ้ม
สังคมต้องการความยุติธรรมให้กับน้องทั้งสองผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบได้เข้ามาดูในคดีนี้ ผู้คนที่เคยบริจาคต่างมาให้ข้อมูลที่สำคัญ เพื่อเอาบุคคลที่เกี่ยวข้อง รู้เห็นเป็นใจและให้ความร่วมมือกับแม่ปุ๊ก มาดำเนินคดีทั้งหมดและต้องลงโทษให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นไม่ให้เกิดการเลียนแบบ
การที่แพทย์ได้ยืนยันข้อเท็จจริงมาอย่างชัดเจนว่า เด็กทั้งสองได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย
ผ่านการรับประทานเข้าไป ไม่ใช่โรคทางพันธุกรรมตามที่แม่ปุ๊กกล่าวอ้าง ย่อมแสดงว่า การที่แม่
ปุ๊กอ้างว่า เคยเรียนเภสัชกรมาก่อน ย่อมรู้อยู่แล้วว่า สารเคมีดังกล่าวมีฤทธิ์ทำลายร่างกายให้ถึงตายได้ ทั้งน้องอมยิ้มนั้นเป็นเด็กที่ตนรับมาอุปการะ ส่วนน้องอิ่มบุญเป็นลูกของตน การนำภาพอาการป่วยของเด็กทั้งสองมาลง เพื่อขอรับบริจาค และขายสินค้าออนไลน์
การกระทำของแม่ปุ๊กเกี่ยวข้องกับความผิดหลายฐานด้วยกัน คือ (1) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (2) พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (3) ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย (4) ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น (5) ฉ้อโกงประชาชน (6) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพราะมีการฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น หรือฉ้อโกงประชาชน (7) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพราะความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชนนั้น เป็นความผิดมูลฐานตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯ (8) พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 (9) พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เพราะมีการนำภาพเด็กโพสต์และขอรับบริจาคเงินถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก (10) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 เพราะนำเด็กมาหารายได้ และผลประโยชน์ให้กับตัวเอง
สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ได้มีการขอรับบริจาค ไม่ว่าจะเป็นจากดารา นักร้อง ผู้มีชื่อเสียง หรือบุคคลธรรมดา เพื่อนำไปรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ยากไร้ ซื้อเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งช่วยเหลือสุนัขหรือแมว เป็นต้น ส่วนหนึ่งจะมีการช่วยเหลือจริง เพราะผู้ขอบริจาคได้แสดงใบเสร็จรับเงินเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ถ่ายรูปผู้ได้รับการช่วยเหลือ และประกาศหยุดการรับบริจาค หากได้เงินตามเป้าหมาย แต่ส่วนหนึ่งอาจไม่ได้มีการนำไปช่วยเหลือจริง
การขอรับบริจาคเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ซึ่งได้กลายเป็น กฎหมายที่ล้าสมัย ไม่เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรนำกรณีของน้องอมยิ้มและน้องอิ่มบุญ เป็นอุทาหรณ์ และกรณีศึกษาเพื่อเสนอแก้กฎหมาย เรื่องนี้ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก เพราะเด็กได้เสียชีวิต และต้องเจ็บป่วยอย่างทุกข์ทรมาน
การรับบริจาคเงินในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือโดยผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค สมควรจะอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ และจะต้องดำเนินการควบคุมดูแลให้รวดเร็ว และทันสมัยด้วย
มิจฉาชีพจะได้ไม่นำความสงสาร และศรัทธาของประชาชนมาแสวงหาประโยชน์
จำนวนการอ่าน 225 ครั้ง