ไม่อุทธรณ์.....คดีพานทองแท้
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 24 เมษายน 2563
ดร. รุจิระ บุนนาค
24 เมษายน 2563
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2561 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบการฟอกเงินตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9 และ 60 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับที่ 5 พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91 กรณีนายพานทองแท้ รับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาท และเข้าบัญชี โดยเงินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจากการทุจริตปล่อยเงินกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทยกับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มีนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารกฤษดามหานคร กับนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชาย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทยตกเป็นจำเลย คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้จำคุกนายวิชัยและนายรัชฎา บุตรชาย คนละ 12 ปี
ในชั้นพิจารณา นายพานทองแท้ ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง เงิน 10 ล้านบาท เป็นส่วนที่จะร่วมลงทุนธุรกิจนำเข้ารถซุปเปอร์คาร์กับ
นายรัชฎา กฤษดาธานนท์
ศาลได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 พิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ พิเคราะห์และเห็นว่า เส้นทางการเงินเป็นไปด้วยความเปิดเผย ไม่ปิดบัง หรือซุกซ่อน หรืออำพรางแต่อย่างใด เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ตลอดเวลา ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลภายหลังได้ ไม่ใช่เป็นการปกปิด หรืออำพรางการได้มา พฤติการณ์จึงยังเชื่อไม่ได้ว่า นายพานทองแท้ ได้เงินจากนายวิชัยมาจากการกระทำความผิด ในเมื่อไม่รู้ หรือเชื่อว่าไม่รู้ว่า เงินดังกล่าวมาจากการกระทำความผิด ทั้งนายพานทองแท้ มีทรัพย์สินมากกว่า 400 ล้านบาท เงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่ได้รับมา หากเทียบแล้วคิดเป็นเงินเพียงร้อยละ 0.025 ของทรัพย์สินนายพานทองแท้ (แต่ด้วยความเคารพ ในคำพิพากษา น่าจะเป็นร้อยละ 2.5 ไม่ใช่ร้อยละ 0.025)
คดีนี้ มีองค์คณะผู้พิพากษา 2 ท่าน แต่มีความเห็นแย้งกัน หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษา ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนเห็นว่า ควรพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และได้ทำความเห็นแย้งไว้ ขณะที่ผู้พิพากษาอีกท่านเห็นว่า ควรยกฟ้อง จึงต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ที่มีหลักสำคัญ คือ ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่าย หรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า
ดังนั้น ศาลจึงต้องมีคำพิพากษายกฟ้อง
ส่วนหนึ่งของความเห็นแย้ง กรณีเงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่นายพานทองแท้รับโอนมาจากนายวิชัย ท่านเห็นว่า การที่นายพานทองแท้เบิกความว่า ไม่เคยร่วมประกอบธุรกิจใดกับนายวิชัย จึงไม่มีเหตุที่นายวิชัยจะต้องโอนเงินจำนวนมากให้แก่นายพานทองแท้ แต่นายพานทองแท้ ได้รับโอนเงินดังกล่าวซึ่งไม่มีหนี้ต้องชำระตามข้อตกลงและการรับโอนเงินโดยไม่มีมูลหนี้จำนวนสูง ย่อมเป็นการตอบแทนที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นลักษณะเงินให้เปล่าเป็นค่าตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งที่รู้เฉพาะนายวิชัย นายรัชฎา และนายพานทองแท้
ผู้พิพากษาที่ทำความเห็นแย้ง เห็นว่า นายพานทองแท้ จึงรู้หรือควรรู้ว่าเงิน 10 ล้าน
บาท ที่ได้รับมาจากนายวิชัย เป็นเงินส่วนหนึ่งของสินเชื่อธนาคารกรุงไทยที่อนุมัติให้เครือกฤษดามหานคร จึงเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5 (1) (2)
พนักงานอัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา จำนวน 4 ครั้ง โดยในระหว่างการขอขยายอุทธรณ์ครั้งที่ 3 วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่อุทธรณ์ไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่า จะมีความเห็นแย้งหรือไม่ และได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา เป็นครั้งที่ 4 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2563
หากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่า ไม่ควรอุทธรณ์ คดีจะถึงที่สุด แต่หากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นแย้ง จะส่งความเห็นแย้งไปยังอัยการสูงสุด เพื่อสั่งชี้ขาดว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากเห็นว่า เป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงสลับซับซ้อน
ส่วนมากคดีที่มีความเห็นแย้งพนักงานอัยการจะอุทธรณ์ โดยสามารถนำความเห็นแย้งของผู้พิพากษาประกอบสำนวนในการยื่นอุทธรณ์ แต่มีบางคดีที่พนักงานอัยการไม่สั่งฟ้องแม้พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้อง
กรณีซาลาเปาเพื่อน้อง คดีนี้เกิดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 พี่ชายวัย 16 ปี ทำงานขายซาลาเปาในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ได้หยิบฉวยซาลาเปาที่ขายไม่หมดและกำลังจะนำไปทิ้งหนึ่งลูก ต้องการให้น้องชายได้รับประทานเพื่อประทังความหิว และคิดว่า ถึงอย่างไรต้องนำซาลาเปาไปทิ้ง