หน้ากากที่หายไป
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 13 มีนาคม 2563
ดร. รุจิระ บุนนาค
13 มีนาคม 2563
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
ในวินาทีนี้ แทบจะทุกประเทศต่างพากันเกรงกลัวต่อสถานการณ์โควิด-19/โคโรน่าไวรัส (Covid-19/Corona Virus)
การติดเชื้อโคโรน่าไวรัสเกิดจาก 2 เหตุผลหลัก คือ (1) ไปสัมผัสกับพื้นผิวที่เชื้อไวรัส
ปะปน แล้วเอาเข้าร่างกายด้วยความพลั้งเผลอ เช่น เอามือจับจมูก ขยี้ตา สัมผัสโดยตรงกับฝอยละออง (Droplet) จากลมหายใจของผู้ติดเชื้อที่เกิดจากการไอและจาม
กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่วิธีป้องกันการติดเชื้อโคโรน่าไวรัส คือ (1) สวมหน้ากากอนามัย และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ (2) ปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ จาม ด้วยกระดาษทิชชู หรือต้นแขนด้านใน (3) หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ และสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ (4) ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น (5) หลีกเลี่ยงการไปตลาดที่ขายซากสัตว์ป่าหรือที่มีชีวิต และการสัมผัสโดยไม่ใช้ถุงมือ (6) ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และ (7) รับประทานอาหารปรุงสุกร้อน ใช้ช้อนกลาง
จากคำแนะนำดังกล่าว ทำให้ประชาชนหันมาป้องกันตนเอง โดยการหาซื้อหน้ากาก
อนามัย และเจลล้างมือ แต่กลับหาซื้อหน้ากากไม่ได้
แม้ในโลกออนไลน์ และตามข้างทาง จะมีขาย แต่ราคาแพงลิบลิ่ว และไม่มีโอกาสรู้ได้ว่า แหล่งผลิตน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะไม่มีฉลาก ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา จะจำกัดปริมาณการซื้อ เพื่อกระจายให้ถึงผู้บริโภคคนอื่น ร้านขายยาหลายร้าน ที่เภสัชกรบอกตรงกันว่า แม้แต่โรงพยาบาลยังมีไม่พอให้กับบุคลากรทางการแพทย์ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง เพราะบุคคลเหล่านี้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ประกาศสินค้าควบคุม 4 อย่าง คือ (1) หน้ากากอนามัย (2)ใยสังเคราะห์ Polypropylene
(Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย (3) ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (4) เศษกระดาษ และกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก และเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563 ได้ประกาศให้ผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) ที่ผลิตภายในประเทศจำหน่ายปลีกในราคา (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ไม่สูงกว่าชิ้นละ 2.50 บาท
การประกาศให้เป็นสินค้าควบคุม ผู้ที่กักตุนสินค้าควบคุมจะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการจำหน่ายเกินราคาที่กำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แม้หน้ากากจะเป็นสินค้าควบคุม ผู้กักตุนมีความผิด หน้ากากยังคงหาซื้อยาก คนจำนวนไม่น้อยต่างสงสัยว่าหน้ากากหายไปไหน หาซื้อได้ที่ไหน หลายคนบอกว่าในโลกออนไลน์ สามารถหาซื้อได้แทบทุกสิ่งที่ท้องตลาดไม่มี
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563 ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี “บอย” ได้ลงรูปหน้ากากอนามัยนับสิบลัง พร้อมข้อความว่า “สินค้ามี 5 ล้านชิ้น ราคา 14 บาทต่อชิ้น หนา 3 ชั้น ใช้ในทางการแพทย์ ไม่แบ่งขาย ขายทีละ 1 ล้านชิ้น” โชว์การเงิน หรือพานายทุนจีนมาซื้อ นายหน้าไม่ติดทุน สินค้าอยู่กับกลุ่มทีมงานผม #ทำงานเป็นทีม” และมีการลงรูปที่ถ่ายร่วมกับผู้ติดตามรัฐมนตรีช่วยฯ
หากย้อนกลับไปในสถานะ หรือ สเตตัสเก่าๆ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 บอกว่ามีหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น ขายล็อตละ 1 ล้านชิ้น แสดงสมุดบัญชีธนาคารหลักฐานการโอนเงินหลาย 100 ล้านบาท มีการไลฟ์สด ให้เห็นภาพคนงานขนลังหน้ากากอนามัยขึ้นรถ
นายศรสุวีร์ บอกว่ามี 200 ล้านชิ้น ในขณะที่คนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ จะหาซื้อชิ้นเดียวยังหาไม่ได้ สื่อต่างๆ จึงพากันมุ่งกันทำข่าวนายศรสุวีร์ รวมถึงการสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ผู้ติดตามรัฐมนตรีที่ถ่ายรูปร่วมกับนายศรสุวีร์ งานนี้เล่นเอาผู้ติดตามรัฐมนตรีช่วยฯ ถึงกลับตอบคลุมเครือไม่ชัดเจน พยายามขอนักข่าววางสายโทรศัพท์ หากเปรียบเป็นนักมวย เหมือนออกอาการเมาหมัดบนเวที
จนในที่สุดทั้งผู้ติดตามและรัฐมนตรีช่วยฯ ต่างบอกว่า ไม่ได้รู้จักหรือเกี่ยวข้องกับนายนายศรสุวีร์ จนนายศรสุวีร์ สารภาพว่า ทำหน้าที่เป็นเพียงนายหน้า ไม่ได้มีหน้ากากอนามัย ตามที่กล่าวอ้างในสื่อสังคมออนไลน์ การไปถ่ายรูปในโกดัง ถ่ายรูปกับผู้ติดตามรัฐมนตรีช่วยฯ เป็นเพียงสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์