กดดัน......กราดยิง
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 14 กุมภาพันธ์ 2563
ดร. รุจิระ บุนนาค
14 กุมภาพันธ์ 2563
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
เหตุการณ์ที่ จ.ส.อ. จักรพันธ์ ถมมา กราดยิงผู้คนในห้างเทอมินอล 21 ที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 นับเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความตกตะลึงและความเศร้าโศกเสียใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ เพราะเหตุการณ์แบบนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ทั้งอาวุธที่ใช้ เป็นอาวุธสงครามที่ล้วนมีแสนยานุภาพมาก
ผู้ที่ติดตามเหตุการณ์นี้ คงทราบดีว่า ก่อนที่จะเกิดการกราดยิงในห้างห้างเทอมินอล 21
จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ผู้ก่อเหตุนี้ได้ยิงพ.อ.อนันต์ฐโรจน์ กระแส ผู้บังคับบัญชาของตน นางอนงค์ มิตรจันทร์ แม่ภรรยาของพ.อ.อนันต์ฐโรจน์ กระแส จนถึงแก่ความตาย และนายพิทยา แก้วพรหม นายหน้าจนได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังก่อเหตุเสร็จ ได้ขับรถยนต์ไปยังกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กราดยิงพลทหารบาดเจ็บ 1 นาย และเสียชีวิต 1 นาย พร้อมกับชิงอาวุธปืนสงครามและกระสุนจากคลังอาวุธ เป็นจำนวนเกือบ 1,000 นัด รวมทั้งขโมยรถฮัมวี่ของเจ้าหน้าที่ออกมา ระหว่างนั้นได้ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ขับรถสวนตามทางถูกยิงเสียชีวิต และได้ขับรถฮัมวี่มาที่ห้างเทอมินอล 21 ยิงถังแก๊สด้านนอกห้างจนเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้น กราดยิงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่พยายามระงับเหตุการณ์และผู้คนที่พบอย่างไร้ความปราณี โดยไม่คำนึงถึงเพศ อายุ แม้กระทั่งเด็กวัยเพียง 2 ขวบ ที่อยู่ในอ้อมกอดผู้เป็นแม่ ยังตกเป็นเป้า
จนในที่สุด ผู้ก่อเหตุได้ถูกวิสามัญ มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ถึง 30 คน และบาดเจ็บกว่า 60 คน ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บทุกท่าน
หากผู้ก่อเหตุถูกจับเป็น คงต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต เพราะจะมีโทษฐานต่างๆที่
เกี่ยวข้อง เช่น ฆ่าเจ้าพนักงาน ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือ โดยการ กระทำทารุณโหดร้าย ทำร้ายเจ้าพนักงาน/ผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเจ้าพนักงาน/ผู้อื่น ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย/ได้รับอันตรายสาหัส ครอบครองและใช้อาวุธสงคราม
ก่อนที่บัญชีเฟสบุ๊ก (Facebook) ของผู้ก่อเหตุจะถูกปิดไป ผู้ก่อเหตุได้มีการลงข้อความว่า “ร่ำรวยจากการโกง การเอาเปรียบคนอื่น มันคิดว่ามันจะเอาเงินไปใช้ในนรกหรือไง” หลังจากที่ยิงผู้บังคับบัญชาของตนแล้ว ได้ลงข้อความ เช่น “3 ศพล้างแค้น นอกนั้นป้องกันตัว" มีการลงรูปถ่ายตัวเองแบบเซลฟี่ กับถังแก๊สที่ไฟกำลังลุกไหม้ที่ผู้ก่อเหตุยิง “กระดิกนิ้วไม่ไหวแล้วซวยล่ะ เป็นตะคริว” “ยังไงก็หนีความตายไม่พ้นทุกคน”
บุคคลทั่วไปต่างสงสัยว่า สาเหตุมาจากอะไร? เพื่อนสนิท เพื่อนบ้าน ล้วนไม่เชื่อว่า ผู้ก่อเหตุจะยิงผู้คนมากมาย เพราะเท่าที่รู้จัก ผู้ก่อเหตุไม่ได้มีนิสัยก้าวร้าว โมโหร้าย แต่จากข้อความที่ผู้ก่อเหตุเขียนชี้เป็นนัยว่า มีความคับแค้นใจ จึงมีการสอบถามผู้ใกล้ชิด และได้สันนิษฐานออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ผู้ก่อเหตุมีความแค้นส่วนตัว ทั้งยังมีการเปิดเผยหลักฐานสัญญากู้เงินเพื่อสร้างบ้านทหารของผู้ก่อเหตุ ซึ่งผู้ก่อเหตุควรได้รับ “เงินทอน” จากนางอนงค์ มิตรจันทร์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “โครงการจัดสรรที่ดินสร้างบ้านพักเพื่อขายให้ทหาร” นอกจากนี้ยังมีค่านายหน้าที่ผู้ก่อเหตุได้พาเพื่อนทหารมาซื้อบ้านจากโครงการดังกล่าว
เงินกู้ที่ผู้ก่อเหตุกู้จากกองการออมทรัพย์ กรมสวัสดิการทหารบกจำนวน 1,125,000 บาท เป็นค่าจ้างสร้างบ้าน 750,000 บาท คงเหลือเงินทอน 375,000 บาท และค่านายหน้าอีก 50,000 บาท เมื่อมีการทวงถามถึงเงินทอนและค่านายหน้า กลับได้รับการปฏิเสธเรื่อยมา อ้างว่าให้ไปเอาที่นายหน้าหรืออยากได้ให้ไปฟ้อง สร้างความไม่พอใจให้กับ ผู้ก่อเหตุ สอดคล้องกับข้อความในเฟสบุ๊กผู้ก่อเหตุ
“เงินทอน” จะได้จากโครงการจัดสรรที่ดินว่างเปล่า หรือการซื้อที่ดินและสร้างบ้าน ผู้ที่ทำโครงการอาจเป็นเครือญาติของนายทหารระดับสูง หรือนายทุนที่รู้จักกับนายทหารระดับสูง มีการชักจูงนายทหารในสังกัดขอกู้เงินจากโครงการสวัสดิการเงินกู้ของทหารโครงการลักษณะนี้ ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ทหารระดับล่าง มีโอกาสมีบ้านเป็นของตนเอง แต่หากนายทหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องไม่มีความเที่ยงธรรม อาศัยช่องว่างของโครงการร่วมมือกับเอกชนเจ้าของโครงการจัดสรรที่ดินแสวงหาผลประโยชน์มาแบ่งกัน โดยใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชาหรือยศตำแหน่งที่สูงกว่า ทำให้นายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาหรือยศต่ำกว่าไม่กล้ามีปากเสียง