เงินที่หายไป
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 22 พฤศจิกายน 2562
ดร. รุจิระ บุนนาค
22 พฤศจิกายน 2562
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 หลายสื่อได้นำเสนอข่าว“เฮียหมา” หรือ “นายเอก
พัฒ อธิธนัทกุล” เจ้าของร้านอาหาร “นายหมาทะเลมีชีวิต” จังหวัดสมุทรปราการ ที่สู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบเงินมาค่อนชีวิต จู่ๆเงิน 5 ล้านบาท ที่ฝากไว้กับธนาคารได้อันตรธานหายไปจากบัญชีทั้งหมด ทำให้เจ้าตัวเครียดหนัก จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะไม่มั่นใจว่าจะติดตามเงินกลับมาได้หรือไม่
ช่วงปลายปี พ.ศ. 2561 เฮียหมาได้นำเงินไปฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
สาขานิคมอุตสาหกรรมบางปู บัญชีประจำ 12 เดือน จำนวน 5 ล้านบาท เพราะพนักงานธนาคารแนะนำว่า ได้ดอกเบี้ยสูง เฮียหมาเห็นว่า เงินจำนวนนี้ตนไม่ได้ตั้งใจที่จะถอนมาใช้ จึงตอบตกลง และเมื่อดูสมุดเงินฝาก มีเงินยอดเงิน 5 ล้านบาท เข้าในบัญชี หลังจากนั้นไม่ได้มีการตรวจสอบความเคลื่อนไหวเพราะเห็นว่าเป็นการฝากประจำ 12 เดือน
จนมาถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เป็นเวลาเกือบครบกำหนด 12 เดือน เฮียหมาจึงนำสมุดบัญชีเงินฝากไปปรับที่ธนาคารต่างสาขา เพื่อจะได้ดูดอกเบี้ย แต่ปรากฏว่าไม่สามารถปรับสมุดได้ จึงได้กลับไปที่สาขานิคมอุตสาหกรรมบางปู กลับพบว่า เงินฝากบัญชีประจำ 12 เดือน ได้ถูกย้ายออกไปใส่ไว้ในบัญชีที่ค้ำประกันธุรกิจ ที่มีเงินในบัญชีกว่า 1 แสนบาท และทั้งสองบัญชีได้ถูกยกเลิกแล้ว ทั้งพบว่าได้มีการทำบัตรเอ.ที.เอ็ม. โดยที่เฮียหมาไม่ได้ทำ แต่ละครั้งมีการถอนหลายแสนบาท รวมเกือบ 2.5 ล้านบาท และมีการปลอมลายเซ็นเบิกถอนเงินสดออกไปด้วย เงินฝาก 5 ล้านบาท ไม่มีเหลือแล้ว
เมื่อเฮียหมาได้แจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางปู สื่อต่างๆได้ประโคมข่าว จน
ทำให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสโลแกน “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ได้แสดงความเห็นใจในเบื้องต้น โดยไปเยี่ยมเฮียหมาที่โรงพยาบาล ทั้งบอกกับเฮียหมาและให้ข่าวว่าจะทำการตรวจสอบ และรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ หากพบความจริงจะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายต่อพนักงานธนาคารอย่างถึงที่สุด ซึ่งทำให้เฮียหมาคลายกังวลไปบ้าง
จนในที่สุดทางธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ตรวจสอบและพบว่ามีพนักงานหญิงของธนาคารคนหนึ่ง กระทำความผิดจริง โดยปลอมลายมือชื่อ ทั้งยังพบบัตรเอ.ที.เอ็ม.ที่สามารถเบิกจ่ายเงินจากบัญชีของเฮียหมาอยู่ที่พนักงานคนนี้ จึงได้แจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางปู พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม เอาไปซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น ลักทรัพย์นายจ้าง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องเกี่ยวกับการฝากเงิน “มาตรา 672 ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
เท่านั้น..”
มาตรา 672 มีหลักการที่สำคัญ คือ เมื่อฝากเงินกับธนาคาร ธนาคารสามารถเอาเงินของผู้ฝากไปใช้ได้ แต่เมื่อผู้ฝากถอนเมื่อไร ธนาคารจะต้องคืนเงินตามจำนวนที่ฝากได้ กรรมสิทธิ์ในเงินฝากถือเป็นของธนาคาร
เงินที่เฮียหมาฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงสามารถฟ้องพนักงานสาวฐานลักทรัพย์นายจ้างได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1104/2545 จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย ตำแหน่งพนักงานธนากรมีหน้าที่รับฝากและถอนเงินให้ลูกค้า แต่เงินที่ลูกค้านำฝากเข้าบัญชีของลูกค้าไว้กับผู้เสียหายเป็นของผู้เสียหาย และอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย มิได้อยู่ในความครอบครองของจำเลย การที่จำเลยใช้ใบถอนเงินหรือแก้ไขบัญชีเงินฝากของลูกค้าผู้ฝากต่างกรรมต่างวาระในรูปแบบทางเอกสารเป็นกลวิธีในการถอนเงินของผู้เสียหาย จนเป็นผลสำเร็จแล้วทุจริตนำเงินนั้นไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
การที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แสดงความรับผิดชอบได้รับผิดชอบต่อเฮียหมา
โดยมอบเงินต้น 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยกว่า 20,000 บาท ถือว่าเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ผู้รับฝากมีต่อผู้ฝาก ตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการฝากทรัพย์
ทั้งการฝากเงินกับธนาคาร ถือได้ว่า ธนาคารเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะ จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2554 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลย (ธนาคาร) รับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ว่ารับฝากเงิน จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากผู้มีวิชาชีพเฉพาะ ที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรในฐานะผู้มีวิชาชีพเฉพาะ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานของจำเลยทุจริตลักลอบเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าต่างๆ จำนวน 34 บัญชี รวมทั้งรายบัญชีของโจทก์ แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลบัญชีเงินฝากของโจทก์ ถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา
เหตุการณ์แบบเฮียหมาไม่ใช่ครั้งแรก จะเห็นได้ว่าในแต่ละปี จะมีข่าวทำนองนี้ให้เห็นอยู่เรื่อยๆ และต่างธนาคารกัน ซึ่งธนาคารไม่ควรรับผิดชอบเพียงแค่คืนเงินและดอกเบี้ยให้ ธนาคารควรชดเชยความเสียหายอย่างอื่น เพื่อชดเชยโอกาสที่เสียไปทั้งทางธุรกิจและส่วนตัว ทั้งความรู้สึกที่เสียไป ความเสียหายเหล่านี้ ถือเป็นค่าปรับและค่าเสียหายที่ควรให้แก่ลูกค้า ที่สู้อุตส่าห์เลือกที่จะฝากเงินกับธนาคารของตน
เมื่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะเยียวยาค่ารักษาพยาบาล ทั้งเฮียหมาและคนอื่นๆที่ติดตามข่าวคงพากันดีใจ แต่กลับปรากฏว่า ทางธนาคารขอเยียวยาจ่ายค่ารักษาหนึ่ง พันบาท ทำให้เฮียหมาถึงกลับกล่าวว่า “ไม่ขอรับ ให้ทางธนาคารเก็บไว้เถอะ ผมมีตังค์”
ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรจะออกมาตรการและระเบียบ ข้อบังคับ ให้ธนาคารทั้งหลาย มีมาตรการตรวจสอบภายในกับเจ้าหน้าที่ของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า