จับกระทงลิขสิทธิ์
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 8 พฤศจิกายน 2562
8 พฤศจิกายน 2562
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter: @RujiraBunnag
กรณีเด็กหญิงอายุเพียง15 ปี จังหวัดนครราชสีมา ได้ทำกระทงข้าวโพดกรอบขาย เพื่อหารายได้เสริม เป็นค่าเล่าเรียน ถูกล่อซื้อ เพื่อจับกุมในข้อหา ละเมิดลิขสิทธิ์ นับเป็นเรื่องที่น่าเวทนา และเห็นใจในสังคมขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง
เธอได้โฆษณาขายกระทงในเฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นสินค้าตามเทศกาล เนื่องจากใกล้ถึงวันลอยกระทง ที่จะมีขึ้นอีกไม่กี่วัน และทำกระทงตามคำสั่งของลูกค้า
ได้มีลูกค้ารายหนึ่งติดต่อเข้ามา ทางเฟซบุ๊ค สั่งทำกระทงจำนวน 136 ชิ้น ให้ติดรูปการ์ตูนดัง เช่น คุมะ แมวกาฟิวด์ ซึ่งล้วนเป็นการ์ตูนที่มีลิขสิทธิ์ และจ่ายค่ามัดจำเป็นเงินเพียง 200 บาท
เมื่อเธอได้รับคำสั่งจากลูกค้าได้รีบทำกระทงตั้งแต่เช้าเวลา 8.00 น. จนถึงเวลา 01.30 น. ของวันรุ่งขึ้น เพื่อส่งให้ทันตามคำสั่ง
เธอได้นำกระทงจำนวน30 ชิ้น ไปส่งให้ลูกค้าที่ประตูชุมพล บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จากนั้นลูกค้า ได้แสดงตัวเป็น ตัวแทนลิขสิทธิ์บริษัทการ์ตูน ที่ล่อซื้อจับกลุ่ม และถูกส่งตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา
ต่อมาได้มีชายอีกประมาณ4-5 คน แสดงตัวว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ เข้ามาเจรจา ข่มขู่ ให้รับสารภาพ ให้เด็กหญิงโทรหาแม่เพื่อเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวน 50,000-400,000 บาท ซึ่งแม่ของผู้หญิง ไม่ได้มีเงินมากถึงขนาดนั้น
ในที่สุดได้เจรจาตัวแทนลิขสิทธิ์ได้ลดค่าปรับเหลือเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท แต่แม่ของเธอไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ เพราะจวนจะคลอดลูกอีกคนหนึ่งจึงต้องใช้เงิน
เธอจึงยินยอมที่จะให้ตัวแทนลิขสิทธิ์ดำเนินคดีและยอมติดคุก ในที่สุดตัวแทนลิขสิทธิ์จึงได้ยอมลดจำนวนเงินเหลือ 5,000 บาท แม่เธอได้หาทางกู้ยืมเงินมาชำระจนได้ เธอจึงรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี
ที่ผ่านมากระทงที่เธอทำขาย เป็นรูปดอกไม้ แต่สำหรับลูกค้ารายนี้ ได้เจาะจงให้เธอทำเป็นรูปการ์ตูนลิขสิทธิ์ เธอจึงทำตามความประสงค์ของลูกค้า โดยไม่รู้ว่าเป็นการล่อซื้อ จนเป็นเหตุให้ถูกจับกุม
เมื่อเป็นข่าวในสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย มีผู้แสดงความคิดเห็น อย่างมากมาย บริษัทซึ่งได้ลิขสิทธิ์ในการจำหน่ายสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ดังกล่าว ได้แถลงว่า ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้ใดจับกุมสินค้าลิขสิทธิ์ในกรณีนี้ ต่อมาได้มีบริษัทอีกแห่งหนึ่ง อ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ในการปราบปราม เป็นผู้ดำเนินการ คนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ เป็นพนักงานของบริษัทจริง
ปัญหาเรื่องการมอบอำนาจจากผู้มีลิขสิทธิ์จึงตกไป แต่ยังมีประเด็นอีกมากมาย ในเรื่องความถูกต้องในการดำเนินคดีตามกฎหมาย
กรณีเยาวชนถูกจับดำเนินคดีจะต้องดำเนินการตาม พระราชบัญญัติศาลครอบครัวและ เยาวชน และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ในกรณีสอบปากคำเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปี จะต้องเป็นการสอบสหวิชาชีพ ที่มีพนักงานสอบสวน อัยการ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่ปรึกษากฎหมายและบุคคลที่เยาวชนร้องขอ ร่วมอยู่ตอนสอบสวนด้วย
แต่ในกรณีที่เกิดเหตุนี้ไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว มีเพียงตัวแทนลิขสิทธิ์หลายคน รุมล้อมเจรจากับเด็กหญิงอายุเพียง 15 ปี วิธีการไม่ต่างกับ ปิดประตูตีแมว ทำให้เด็กหญิงไม่มีทางเลือก และอยู่ในภาวะ ตื่นตระหนกและตกใจกลัว เป็นอย่างมาก
ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ การล่อซื้อ ซึ่งแท้ที่จริงเป็นการล่อ หรือ หลอกล่อให้กระทำความผิด เพราะเป็นการสั่งโดยเฉพาะเจาะจง ให้เด็กหญิงทำกระทงที่ละเมิดลิขสิทธิ์รูปการ์ตูน
ดังนั้นเมื่อเด็กหญิงทำตามคำสั่งของตัวแทนลิขสิทธิ์จะถือว่าเด็กหญิงละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างไร
หากผู้ที่อ้างตัวเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ไม่ได้รับมอบอำนาจมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ต้องถือว่า คนที่สั่งเด็กหญิงให้ทำกระทง เข้าจับกุมและเจรจา ล้วนละเมิดลิขสิทธิ์ และยังทำผิดกฎหมายอีกหลายข้อหา
นอกจากนี้การที่เจรจาต่อรอง เพื่อเรียกร้องเงิน ไม่ว่าจะ อ้างว่าเป็น ค่าปรับหรือค่าเสียหายก็ตาม โดยมีที่มาไม่ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่แรก ยังเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ที่ข่มขู่ ให้ผู้อื่นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อที่ตนจะได้รับประโยชน์หรือทรัพย์ จากผู้ที่ถูกข่มขู่
ต่อมาตัวแทนลิขสิทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า มีสิทธิ์และอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย โดยที่ตัวเองไม่ได้รู้ตัวเลยว่า เป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายเสียเองแล้ว
ตัวแทนลิขสิทธิ์ยังกล่าวหาอีกว่าเด็กหญิงได้โฆษณาในเฟซบุ๊ค ว่า รับทำกระทง และมีรูปโฆษณา เป็นภาพการ์ตูนลิขสิทธิ์ ซึ่งถือว่าได้ละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว การที่ตัวแทนลิขสิทธิ์สั่งซื้อกระทงละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
หากพิจารณาในประเด็นนี้ต้องแยกออก เป็นประเด็นย่อย 2 ประการ
ประการแรกการที่เด็กหญิงโฆษณาในเฟซบุ๊ค หากละเมิดลิขสิทธิ์จริง ตามที่ตัวแทน ลิขสิทธิ์กล่าวหา เหตุใดจึงไม่แจ้งความร้องทุกข์ ในประเด็นนี้เลย ทั้งที่สามารถดำเนินการตามกฏหมายได้แล้ว
ประการที่สองแม้เด็กหญิงอาจผิด ละเมิดลิขสิทธิ์ตามประการแรก การล่อ หรือหลอกล่อให้กระทำความผิด เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่ถือว่าตัวแทนลิขสิทธิ์เป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ จึงไม่สามารถดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย
การล่อซื้อหรือ ล่อให้กระทำความผิดในคดีลิขสิทธิ์ แตกต่างจากในกรณีอื่นๆ เช่น การล่อซื้อ ยาเสพติด ประเภทต่างๆ เพราะยาเสพติดถือว่าผิดกฎหมายในทุกกรณี แต่ในเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องที่สามารถเจรจาตกลงประนีประนอมกันได้ ดังนั้น ตัวแทนลิขสิทธิ์ ล่อ หรือหลอกล่อให้กระทำความผิดโดยการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงไม่ถือเป็นผู้เสียหาย ที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายได้
ไม่ว่าตัวแทนลิขสิทธิ์จะอ้างเหตุผลใดก็ตามการที่เด็กหญิงคนหนึ่ง หารายได้เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน และจุนเจือครอบครัว ด้วยการทำกระทงขายตามเทศกาล สู้อดตาหลับขับตานอน เพื่อทำส่งให้ทันตามคำสั่งของลูกค้า ได้เงินเพียงเล็กน้อย อาจไม่กี่ 100 บาท แต่ถูกข่มขู่เรียกร้องเงินเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องที่สะเทือนใจ สังคมยอมรับไม่ได้
หลังจากเกิดกรณีเด็กหญิงนี้ได้ปรากฏว่า มีกรณีอื่น คล้ายกัน เกิดขึ้นอีกกว่า 20 ราย
หากพิจารณาในแง่ดีถือเป็นความดีของตัวแทนลิขสิทธิ์ในกรณีเด็กหญิงนี้ ที่ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น
จนเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่ของบ้านเมือง และหน่วยงานราชการ หันมาสนใจ และทำความตกลงร่วมกันว่า จะดำเนินการอย่างถูกต้อง
นับว่า การดำเนินคดีลิขสิทธิ์ ที่อาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยังมีความดีอยู่บ้าง
กรณีเด็กหญิงอายุเพียง
เธอได้โฆษณาขายกระทง
ได้มี
เมื่อเธอได้รับคำสั่งจากลูกค้า
เธอได้นำกระทงจำนวน
ต่อมาได้มีชายอีกประมาณ
ในที่สุดได้เจรจา
เธอจึงยินยอมที่จะให้ตัวแทนลิขสิทธิ์ดำเนินคดี
ที่ผ่านมา
เมื่อเป็นข่าวในสื่อมวลชน
ปัญหาเรื่องการมอบอำนาจ
กรณีเยาวชนถูกจับดำเนินคดี
แต่ในกรณีที่เกิดเหตุนี้
ประเด็นสำคัญ
ดังนั้นเมื่อเด็กหญิงทำตามคำสั่งของตัวแทนลิขสิทธิ์
หากผู้ที่อ้างตัวเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์
นอกจากนี้
ต่อมาตัวแทนลิขสิทธิ์
ตัวแทนลิขสิทธิ์ยังกล่าวหาอีกว่า
หากพิจารณาในประเด็นนี้
ประการแรก
ประการที่สอง
การล่อซื้อ
ไม่ว่าตัวแทนลิขสิทธิ์จะอ้างเหตุผลใดก็ตาม
หลังจากเกิดกรณีเด็กหญิงนี้
หากพิจารณาในแง่ดี
จนเป็นเหตุให้
นับว่า การดำเนินคดีลิขสิทธิ์ ที่อาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยังมีความดีอยู่บ้าง
จำนวนการอ่าน 155 ครั้ง