ติดจีพีเอส รถทุกคัน
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 25 ตุลาคม 2562
ดร. รุจิระ บุนนาค
25 ตุลาคม 2562
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
นับจากที่กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนด
คุณลักษณะของเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางจีพีเอส (GPS) และ กำหนดประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งที่ต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถจีพีเอส ทำให้ในปัจจุบันมีรถ 4 ประเภทที่กฎหมายบังคับให้ติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางจีพีเอส คือ (1) รถรับจ้าง (2) รถบรรทุก (3) รถตู้โดยสาร และ (4) รถโดยสารขนาดใหญ่ มีการเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถของกรมการขนส่งทางบก โดยจัดเก็บข้อมูล เช่น ข้อมูลการใช้ความเร็ว ชั่วโมงการขับขี่และตำแหน่งพิกัดของรถ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก
เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางจีพีเอส ช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่ง สามารถ
ติดตามพฤติกรรมผู้ขับรถ อันเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารการขนส่งทางบกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
จากข้อมูลของกรมขนส่งทางบก เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 รถที่ติดตั้งระบบจีพีเอส เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบจีพีเอส ประกอบไปด้วยรถโดยสาร
ประจำทาง 19,157 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 61,322 คัน รถบรรทุกไม่ประจำทาง 131,365 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคล 150,502 คัน รถอื่นๆ 29,557 คัน
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายที่จะเพิ่มประเภทของรถที่จะติดตั้งจีพีเอส คือ รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ โดยเชื่อว่าหากติดตั้งจีพีเอส จะทำให้มีการควบคุมความเร็ว ซึ่งสามารถลดอุบัติเหตุ ทั้งยังช่วยลดอาชญากรรม ประกอบกับราคาจีพีเอส ที่จากเดิมราคาเครื่องละ 10,000 กว่าบาท ปัจจุบันอุปกรณ์ลดลงเหลือ 3,000 บาท ค่าบริการจีพีเอส รายเดือนจากเดิม 500-700 บาท ลดเหลือ 300 บาท ทั้งนี้จะเริ่มจากรถที่จดทะเบียนใหม่ก่อน ส่วนรถเก่า จะมีมาตรการค่อยๆบังคับใช้ต่อไป พร้อมได้มอบนโยบายนี้ให้แก่กรมการขนส่งทางบกไปทำการศึกษาความเป็นไปได้ ตลอดจนข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึงจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ มีกรอบเวลาให้เสร็จภายใน 1 ปี
นโยบายนี้มีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยเชื่อว่า การติดตั้งจีพีเอส
จะช่วยลดอุบัติเหตุและอาชญากรรม แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลอย่างกว้างขวาง เพราะค่าของเงิน 300 บาท ในแต่ละคนย่อมต่างกัน ผู้มีรายได้ต่อเดือนสูง นักธุรกิจ อาจมองว่าไม่ได้สร้างภาระมากนัก แต่สำหรับบางคนการที่ต้องเสียค่าติดตั้ง 3,000 บาท และต้องจ่ายค่ารายเดือนอีกเดือนละ 300 บาท ถือเป็นการสร้างภาระให้ครอบครัวเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 รถยนต์ส่วนบุคคลทั่วประเทศมีประมาณ 8,800,000 คัน ถ้าติดจีพีเอส ค่าบริการรายเดือน 300 ต่อเดือน รวมเป็นเงิน 2,640 ล้านบาท รถกระบะมีประมาณ 6,000,000 คัน รวมเป็นเงิน 1,800 ล้านบาท รถมอเตอร์ไซต์มีประมาณ 20,000,000 คัน รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท จำนวนเงินนี้ยังไม่รวมค่าติดตั้งจีพีเอส อีกคันละ 3,000 บาท ซึ่งจะเป็นค่าติดตั้งจีพีเอส รวมเป็นเงินสูงถึง 60,000 ล้าน บาทประชาชน คือ ผู้ต้องเสียเงินจำนวนนี้ แต่ผู้ที่ได้รับเงิน ส่วนหนึ่งคงเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์