ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
ลงพิมพ์ในเดลินิวส์ : 11 กุมภาพันธ์ 2562
ดร. รุจิระ บุนนาค
11 กุมภาพันธ์ 2562
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujaraBunnag
เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้กำหนดวงเงินขั้นต่ำค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ไว้บนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เพื่อให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งต้องจ่ายให้กับผู้เสียหายที่ถูกรถคันที่มีประกันภัยชน มีผลเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562
เมื่อกล่าวถึงค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ คนส่วนมากมักจะไม่ทราบ และไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไรกันแน่
ความหมายของคำว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถตามความหมายของ คปภ. ในกรณีนี้จะเป็นกรณีที่ ผู้ที่เป็นเจ้าของรถถูกคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งขับรถที่มีประกันภัยภาคสมัครใจ (กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมี) มาชน โดยผู้ที่เป็นเจ้าของรถคนแรกเป็นฝ่ายถูก และคู่กรณีอีกฝ่ายที่มีประกันภัยเป็นฝ่ายผิด เมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของรถคนแรกนำรถของตนเข้าซ่อมตามที่บริษัทประกันภัยของคู่กรณีรับผิด จะเกิดปัญหาไม่มีรถใช้ ต้องเสียค่ารถแท็กซี่ หรือเช่ารถในระหว่างที่ซ่อม สามารถเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ที่เรียกว่า ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจากบริษัทประกันภัยของคู่กรณีได้
ตัวอย่าง เช่น รถของนาย ก. ถูกรถของนาย ข.ที่ประกันภัยชั้นหนึ่งชน บริษัทประกันภัยรถของนาย ข.ต้องซ่อมแซมรถของนาย ก. เป็นเวลา 7 วัน ในช่วงเวลาดังกล่าวนาย ก. ต้องใช้รถติดต่องานและทำธุระส่วนตัว เมื่อรถเข้าซ่อมนาย ก.ต้องเสียค่ารถแท็กซี่วันละ 500 บาท เป็นเวลา 7 วัน รวมเป็นเงินจำนวน 3,500 บาท นาย ก.สามารถเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรถนาย ข.รับผิดชอบจ่ายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้
ปัญหาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง บริษัทประกันภัยรถนาย ข. มักจะไม่บอกนาย ก.ว่า มีสิทธิได้เงินค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ หากนาย ก. จะได้มักเป็นกรณีที่นาย ก. รู้มาก หรือรู้เอง และทวงถามสิทธินี้จากบริษัทประกันภัย ครั้นเมื่อทวงถามมักจะเกิดการโต้เถียงว่า ต้องซ่อมรถกี่วันกันแน่ และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถควรจะเป็นวันละเท่าไรแน่
เพื่อเป็นการอุดช่องว่างและแก้ปัญหา คปภ. จึงได้กำหนดอัตราขั้นต่ำค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถไว้ดังนี้
1. รถยนต์นั่งที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 คน (รวมผู้ขับขี่) อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
2. รถยนต์รับจ้างสาธารณะที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 คน (รวมผู้ขับขี่) อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
3. รถยนต์นั่งที่มีที่นั่งเกิน 7 คน (รวมผู้ขับขี่) อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
หมายเหตุ รถประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามข้อ 1-3 เช่น รถจักรยานยนต์ ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง และการตกลงกันได้ โดยพิจารณาหลักฐานเป็นกรณีไป
การที่ คปภ. กำหนดอัตราขั้นต่ำค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถไว้ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด และถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีของ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.
อย่างไรก็ตาม อัตราขั้นต่ำค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่ คปภ. กำหนด ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้ใช้รถคันที่เกิดอุบัติเหตุกับรถที่มีประกันโดยที่ตนเป็นฝ่ายผิด (รถคันที่มีประกันเป็นฝ่ายถูก) และกรณีที่รถที่เกิดอุบัติเหตุกันมีเพียงประกันภาคบังคับ หรือประกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่มุ่งคุ้มครองการบาดเจ็บ หรือตายเท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองทรัพย์สิน
การกำหนดอัตราขั้นต่ำของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ยังจะเป็นฐานในการคำนวณเงินในส่วนนี้จากผู้ที่ต้องรับผิดในกรณีที่บริษัทประกันภัยไม่ได้รับผิดอีก
จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เมื่อ คปภ. ได้กำหนดอัตราขั้นต่ำค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถแล้ว จะได้กำหนดมาตราการเร่งรัดที่ใช้ในบริษัทประกันภัยชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถด้วยความรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายในกรณีอื่นๆอีกด้วย
หากในอนาคต คปภ.จะส่งเสริมให้การทำประกันภัยรถ มีการชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในหลายๆ กรณีมากขึ้น และชดใช้ผู้เสียหายให้อย่างเป็นธรรม น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะทุกวันนี้ถือว่า รถเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นปัจจัยที่ 5 ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน
นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
จำนวนการอ่าน 1155 ครั้ง