4 รัฐมนตรีลาออก
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 1 กุมภาพันธ์ 2562
ดร. รุจิระ บุนนาค
1 กุมภาพันธ์ 2562
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562 4 รัฐมนตรีสังกัดพลังประชารัฐ ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และได้ประกาศตัวทำงานการเมืองอย่างเต็มตัว การลาออกมีผลวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562
ประชาชนอาจเกรงว่า การลาออกของรัฐมนตรีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศ เรื่องนี้ท่านนายกได้ชี้แจงว่า จะไม่มีผลกระทบ เพราะมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงรักษาราชการแทน โดยตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม มีนายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม รักษาการแทน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ มี น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช. รักษาการแทน ซึ่งหาก น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ไม่อยู่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะต้องกำกับดูแลแทน สำหรับตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รักษาการแทน ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์ มีนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.การกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทน
พรรคพลังประชารัฐ (อังกฤษ: Palang Pracharath Party, ชื่อย่อ:พปชร. ชื่อย่อภาษาอังกฤษ: PPRP) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 มีหัวหน้าพรรค คือ นายอุตตม สาวนายน
ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต่างมีผลงานพอสมควร เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีคอมเมิร์ซ ธนาคารชุมชน รัฐวิสาหกิจชุมชน
สำหรับเหตุผลของการลาออกของรัฐมนตรีทั้ง 4 ท่าน คือ จะได้ทำงานทางการเมืองอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ไม่ต้องการเบียดบังเวลาราชการ รัฐมนตรีทั้ง 4 ท่าน ได้เคยพูดเป็นนัยๆ ว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จะไปทำงานการเมืองอย่างเต็มตัว
การลาออกของรัฐมนตรีทั้ง 4 ท่าน เป็นการแสดงถึงการเดินหน้าการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประชาชนจำนวนไม่น้อย ต่างคาดการณ์ว่า พรรค พปชร.คงจะทาบทามให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาร่วมงานกับพรรค เพื่อเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี
การลาออกจากตำแหน่ง ถือเป็นการแสดงสปิริตอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการลาออกโดยสมัครใจ มีการกล่าวกันว่า ในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีรัฐมนตรี ที่ลาออกหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปใช้บังคับ จะมีแต่รัฐมนตรีรักษาการที่ลาออก สำหรับพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562 จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการพูดกันว่า เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทย
มีความจำเป็นที่ต้องมีการลาออกหรือ?
มีการกล่าวกันว่า การลาออกของรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้บางคนอาจมองว่า การลาอออกถือเป็นเรื่องที่ต้องทำหรือไม่? ตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ ทั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีนัยว่า รัฐมนตรีในรัฐบาล จะพ้นจากตำแหน่งโดยปริยาย ก่อนที่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ไม่ว่าการเลือกตั้งนั้น จะมีขึ้นเพราะนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา และประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเมื่อครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร คือ 4 ปี
เมื่อไม่มีกฎหมายบังคับให้ลาออก ทำให้บางคนมองว่า หากต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่จริงๆ การประกาศลาออก ควรมีขึ้นตั้งแต่วันที่เปิดตัวพรรค พปชร. นั่นคือ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561 จึงไม่แปลกใจที่ จะมีการมองว่า การลาออกเกิดจากแรงกดดัน
ในต่างประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ทั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ไม่ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนการเลือกตั้งเช่นกัน
เมื่อทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ไม่มีความจำเป็นต้องลาออก สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เพราะมีกฎหมายรองรับ