ใบอนุญาตขับขี่ดิจิทัล
ลงพิมพ์ในเดลินิวส์ : วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562
ดร. รุจิระ บุนนาค
28 มกราคม 2562
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 กรมการขนส่งทางบก ได้เร่งประชาสัมพันธ์เตรียมเปิดใช้งานใบอนุญาตขับขี่ดิจิทัล (Electronic Driving Licence) ให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น DLT QR Licence ทางสมาร์ทโฟน ทั้งระบบ IOS และ Android โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาเพื่ออำนวยความสะดวก และสามารถทดแทนการพกพาใบอนุญาตขับขี่ที่ใช้ในปัจจุบัน
ใบอนุญาตขับขี่ดิจิทัล สามารถแสดงใบอนุญาตขับขี่ ได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีระบบแจ้งเตือนให้มาดำเนินการเปลี่ยนชนิด หรือขอต่อใบอนุญาตขับขี่ล่วงหน้า นับได้ว่า รองรับความสะดวกในการใช้งานให้กับผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 กรมการขนส่งทางบก ได้ยกเลิกการออกใบอนุญาตขับขี่แบบตลอดชีพ คงมีเพียงใบขับขี่ชั่วคราว ทุก 2 ปี และ 5 ปี ถือได้ว่า ใบอนุญาตขับขี่ดิจิทัลเป็นเครื่องช่วยความจำให้ผู้ขับขี่ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดข้อหาใบอนุญาตขับขี่หมดอายุ
ใบอนุญาตขับขี่ดิจิทัลยังแสดงข้อมูลส่วนตัว เช่น ประวัติการแพ้ยากรุ๊ปเลือด โรคประจำตัวสิทธิ์การเข้ารับการรักษาพยาบาล ชื่อผู้ติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน การแชร์เส้นทางการเดินทาง เพื่อแจ้งพิกัดพร้อมหมายเลขทะเบียนรถให้แก่บุคคลที่ต้องการทราบ รวมถึงการขอความช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะมีการประสานการทำงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างใกล้ชิดเรียกได้ว่า ล้ำสมัยสมกับยุคไทยแลนด์ 4.0 จริงๆ
หลายคนอาจเข้าใจว่า นับจากวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562 ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพกใบอนุญาตขับขี่แบบกระดาษหรือพลาสติก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายประกาศอย่างชัดเจนว่า แม้ผู้ขับขี่จะดาวน์โหลดใบอนุญาตขับขี่ดิจิทัล แต่ผู้ขับขี่ยังต้องพกใบอนุญาตขับขี่ตัวจริงด้วย เพราะกฎหมายยังไม่มีผลใช้บังคับ ร่าง พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....อยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับ
ดังนั้น หากผู้ขับขี่ทำผิดกฎจราจร เช่น ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เมื่อตำรวจจราจรขอดูใบอนุญาตขับขี่ แต่ผู้ขับขี่ไม่สามารถแสดงได้จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 กรณีผู้ขับขี่ไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (กฎหมายใหม่เสนอให้ปรับเพิ่มโทษเป็น จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท) กรณีผู้ขับขี่ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถปรับไม่เกิน 1,000 บาท (กฎหมายใหม่ เสนอให้ปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท) แต่หากผู้ขับขี่ขับรถในระหว่างใบอนุญาตสิ้นอายุ ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกยึดใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท (กฎหมายใหม่เสนอให้เพิ่มโทษจำคุกเข้ามาด้วย คือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ส่วนโทษ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท)
เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันชัดเจนว่า ผู้ขับขี่ยังต้องพกใบอนุญาตขับขี่อยู่ กรมการขนส่งทางบกกลับออกมายืนยันเรื่องนี้เช่นกัน แต่ได้เสริมว่า ในช่วงที่กฎหมายยังไม่มีผลใช้บังคับ ใบอนุญาตขับขี่ดิจิทัลจะมีประโยชน์ในแง่ที่ว่า หากผู้ขับขี่ไม่ได้ทำผิดกฎจราจรแต่อย่างใด แต่ตำรวจจราจรต้องการดูเพียงว่า มีใบอนุญาตขับขี่หรือไม่
สำหรับผู้ขับขี่ทางที่ดีควรพกใบอนุญาตขับขี่ติดตัวไว้ เพราะตำรวจจราจรมีดุลพินิจที่จะเรียกดูใบอนุญาตขับขี่ หากตำรวจจราจรยอมรับใบอนุญาตขับขี่ดิจิทัล ปัญหาจะไม่เกิด แต่ถ้าตำรวจจราจรต้องการดูใบอนุญาตขับขี่ และไม่สามารถแสดงได้ ถือว่ามีความผิด
ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ใบอนุญาตมี ดังนี้ (1) ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล (2) ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล (3) ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (4) ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ (5) ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (6) ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ (7) ใบอนุญาตขับรถบดถนน (8) ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์ (9) ใบอนุญาตขับรถชนิดอื่นนอกจาก (1) ถึง (8) (10) ใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี (ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ)
สำหรับอายุของผู้ที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตขับขี่ (1) ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ (2) ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ (3) ใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ ใบขับขี่รถยนต์สามล้อสาธารณะ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์ (4) ใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ (5) ใบขับขี่รถบดถนน ใบขับขี่รถแทรกเตอร์ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
ปัญหาเรื่องใบอนุญาตขับขี่ดิจิทัล และใบอนุญาตขับขี่แบบกระดาษ และพลาสติก เป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างดีพอ เป้าหมายของกรมการขนส่ง คือ การเชื่อมโยงข้อมูล และกำหนดบทลงโทษแทนการยึดใบอนุญาตขับขี่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เคยชี้แจง เมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ว่า การใช้แอปพลิเคชั่น