ปลดประธานนิสสัน
ลงพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ : 15 มกราคม 2562
15 มกราคม 2562
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter: @RujiraBunnag
นิสสันเป็นรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโดยทั่ว ๆ ไปจะเข้าใจว่า นิสสันเป็นรถญี่ปุ่น ผลิตและบริหารจัดการโดยญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันนิสสันไม่ได้เป็นรถญี่ปุ่นเต็มตัวและบริหารจัดการโดยคนญี่ปุ่นเต็มที่เหมือนตอนแรกเริ่มก่อตั้ง
นิสสันได้ถูกซื้อกิจการโดยเรโนลต์ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ค่ายฝรั่งเศสมานานประมาณ 20 ปีแล้ว ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้วนิสสันจึงเป็นรถยนต์ฝรั่งเศส แต่การบริหารจัดการโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง ระดับกลาง วิศวกร ช่างเทคนิค ยังเป็นชาวญี่ปุ่น ผู้บริหารนิสสันระดับสูงสุดที่มีชื่อเสียงมิใช่ชาวญี่ปุ่น แต่เป็นชาวฝรั่งเศส เชื้อสายเลบานอน ที่เกิดในบราซิล ชื่อ คาร์ลอส กอสน์
เมื่อไม่นานมานี้กอสน์ถูกทางการญี่ปุ่นจับกุมในญี่ปุ่น เพราะแจ้งรายได้ของเขาจากบริษัทนิสสันต่อตลาดหลักทรัพย์โตเกียวต่ำกว่าความจริง เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษี ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือทางการเงินและตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่น อัยการญี่ปุ่นได้พบหลักฐานการกระทำความผิดว่า กอสน์แจ้งรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริงประมาณ 5 พันล้านเยน หรือประมาณ 1,460 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 5 ปี นับจากปี พ.ศ. 2554
กอสน์จบการศึกษาด้านวิศวกรรมในฝรั่งเศสและทำงานที่บริษัทยางมิชลิน อันมีชื่อเสียงของฝรั่งเศส แล้วต่อมาจึงได้เป็นผู้บริหารของเรโนลต์ กอสน์เข้ามาบริหารนิสสันตอนที่ นิสสันมีปัญหาใกล้ที่จะล้มละลาย และเรโนลต์ได้เข้ามาซื้อหุ้นของนิสสันจำนวน 36.8%
กอสน์โด่งดังและเป็นนักธุรกิจที่ได้รับความนับถือจากแวดวงธุรกิจมาก เพราะสามารถพลิกกิจการของนิสสันที่จะล้มละลายให้กลับมีกำไรได้ ในช่วงปี พ.ศ. 2542 ที่กอสน์เข้าไปบริหารนั้น นิสสันขาดทุนมีหนี้มากถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 640,000 ล้านบาท และมีรถยนต์แค่ 3 รุ่นจาก 46 รุ่นที่ขายในญี่ปุ่นที่สร้างผลกำไร แต่กอสน์สามารถทำให้นิสสันกลับมามีกำไรได้ภายในเวลาอันสั้นนับแต่ที่เขาเข้ามาบริหาร
ในการแก้ไขหนี้ของนิสสัน กอสน์ใช้วิธีที่บริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นไม่ใช้กัน คือ การลดค่าใช้จ่ายด้วยการปิดโรงงาน 5 โรงงาน เลิกจ้างพนักงานจำนวนมากถึง 21,000 คน หรือประมาณ 14 % ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งเช่น โตโยต้าที่มีนโยบายเลี้ยงดูพนักงานทุกคนจนถึงเกษียณ กอสน์ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของนิสสันเป็นจำนวนมากจนได้รับฉายาว่าเพชรฆาตต้นทุน หรือ Le Cost Killer
ต่อมานิสสันได้เข้าถือหุ้นในมิตซูบิชิอีกค่ายหนึ่งของรถญี่ปุ่น จำนวน 34% ภายใต้การบริหารของกอสน์นั้น บริษัทนิสสัน เรโนลต์ และมิตซูบิชิ ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกันผ่านทางการทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นที่ทั้ง 3 บริษัทนี้ถือหุ้นซึ่งกันและกันอย่างสลับซับซ้อน
กอสน์ได้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO) ของทั้งนิสสัน และเรโนลต์ จึงเป็นผู้บริหารคนแรกที่บริหาร 2 บริษัทที่ถูกจัดอันดับใน ฟอร์จูน 500 ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้กอสน์ยังได้เป็นประธานบริษัท AVTOVAZ บริษัทผลิตรถยนต์ของรัสเซียอีกด้วย
ในการบริหารกิจการต่างๆ ของบริษัทในเครือพันธมิตร กอสน์ใช้เวลาทำงานอยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ประเทศละประมาณ 1 สัปดาห์
การที่กอสน์ถูกจับกุมจึงกระทบถึงบริษัทรถยนต์ทั้ง3 ค่ายดังกล่าว ซึ่งนอกจากการหลีกเลี่ยงภาษีแล้ว ยังมีการตรวจสอบพบว่า กอสน์ประพฤติผิดร้ายแรงอีกหลายอย่าง เช่น นำเงินลงทุนของบริษัทไปใช้ส่วนตัว รวมทั้งใช้เงินบริษัทเป็นค่าใช้จ่ายอย่างไม่เหมาะสม
นิสสันเป็นรายแรกที่ปลดกอสน์ออกจากตำแหน่งประธานบริษัทและมิตซูบิชิได้เตรียมปลดกอสน์ออกจากประธานบริษัทด้วยเช่นกัน ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ระบุว่ารัฐบาลจะติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสได้ถือหุ้นอยู่ในเรโนลต์ถึง 15%
หลังจากที่กอสน์ถูกจับกุมและควบคุมตัวมากว่าหนึ่งเดือนและได้รับการประกันตัวออกมา กอสน์ถูกจับกุมอีกครั้งในญี่ปุ่นด้วยข้อหาเพิ่มเติมคือการใช้เงินของนิสสันจำนวน 1.85 พันล้านเยน (16.6 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือประมาณ 5.3 แสนล้านบาท เพื่อชดใช้ผลขาดทุนของเขาจากการซื้อขายตราสารอนุพันธ์เมื่อปี พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ตาม กอสน์ยังปฎิเสธทุกข้อหาที่ทางการดำเนินการกับเขา
มีข้อสังเกตุว่ากอสน์ประสบความสำเร็จมาตลอดเส้นทางการทำงาน จนเป็นเศรษฐี อย่างไรก็ตาม การที่กอสน์ถูกจับกุมในญี่ปุ่นนั้น เป็นเพราะวิถีการใช้ชีวิตของกอสน์ในญี่ปุ่นนั้นแตกต่างจากวิถีชีวิตของเศรษฐีญี่ปุ่นโดยทั่ว ๆ ไป
กอสน์ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย เช่นเดียวกับเศรษฐีในประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป ทั่วไป ซึ่งดูแล้วร่ำรวย มีอำนาจ ในขณะที่เศรษฐีชาวญี่ปุ่นจะใช้ชีวิตสมถะ เรียบง่าย ไม่หรูหรา การที่กอสน์ใช้ชีวิตอย่างหรูหรามาก ๆ จึงทำให้กอสน์ถูกทางการญี่ปุ่นเพ่งเล็ง เพราะเป็นที่โดดเด่นสะดุดตากว่าเศรษฐีหรือนักบริหารบริษัทใหญ่คนอื่น ๆ ที่เป็นชาวญี่ปุ่น
ในยุคดิจิตอลนี้การที่บุคคลใดจะหลบเลี่ยงหรือแสดงข้อมูลเท็จเพื่อการหลีกเลี่ยงภาษีหรือเพื่อเหตุอื่นนั้นสามารถกระทำได้ยากมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะข้อมูลต่าง ๆ ของหลายหน่วยงานของทางการจะถูกเชื่อมต่อถึงกันหมด
ด้วยเหตุนี้การที่จะแสดงข้อมูลที่จากผิดความจริงเพื่อที่จะได้เสียภาษีน้อยลงในปัจจุบันจึงไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะข้อมูลต่างๆที่บุคคลนั้นยื่นไว้ต่อหน่วยงานต่างๆของทางการจะขัดกันเอง และเป็นการฟ้องออกมาเองว่า ผู้ที่แจ้งข้อมูลได้แจ้งข้อมูลไว้ไม่ถูกต้อง ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบต่าง ๆ ของทางการ
แม้กอสน์จะประสบความสำเร็จในทางธุรกิจร่ำรวย แต่การแจ้งข้อมูลเท็จดังกล่าว หากเป็นในอดีต คงไม่มีหน่วยงานใดของทางการสามารถเอาผิดได้ แต่ในปัจจุบันการที่กอสน์หรือบุคคลใดจะแจ้งข้อมูลเท็จเพื่อหลบเลี่ยงทางการ ไม่สามารถที่จะทำได้อีกต่อไป
ไม่น่าเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงอย่างกอสน์ที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลจะมองข้ามความสำคัญในการตรวจสอบในยุคดิจิตอล
ในประเทศไทยเองได้เริ่มมีการตรวจสอบด้วยระบบดิจิตอลแล้วข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆจะเชื่อมโยงกัน การแจ้งข้อมูลเท็จต่าง ๆ กับทางการจะตรวจสอบพบเจอ
คนที่สุจริตย่อมไม่ประสบปัญหาไม่ว่า จะโดนตรวจสอบแบบไหน
นิสสัน
นิสสันได้ถูกซื้อกิจการโดยเรโนลต์
เมื่อไม่นานมานี้
กอสน์จบการศึกษาด้านวิศวกรรมในฝรั่งเศส
กอสน์โด่งดังและเป็นนักธุรกิจที่ได้รับความนับถือจากแวดวงธุรกิจมาก
ในการแก้ไขหนี้ของนิสสัน
ต่อมา
กอสน์ได้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ในการบริหารกิจการต่าง
การที่กอสน์ถูกจับกุมจึงกระทบถึงบริษัทรถยนต์ทั้ง
นิสสันเป็นรายแรกที่ปลดกอสน์ออกจากตำแหน่งประธานบริษัท
หลังจากที่กอสน์ถูกจับกุมและควบคุมตัวมากว่าหนึ่งเดือน
มีข้อสังเกตุว่า
กอสน์ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา
ในยุคดิจิตอลนี้การที่บุคคลใดจะหลบเลี่ยงหรือแสดงข้อมูลเท็จเพื่อการหลีกเลี่ยงภาษี
ด้วยเหตุนี้การที่จะแสดงข้อมูลที่จากผิดความจริงเพื่อที่จะได้เสียภาษีน้อยลง
แม้กอสน์จะประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ
ไม่น่าเชื่อว่า
ในประเทศไทยเองได้เริ่มมีการตรวจสอบด้วยระบบดิจิตอลแล้ว
คนที่สุจริตย่อมไม่ประสบปัญหา
จำนวนการอ่าน 322 ครั้ง