ประกันภัย พ.ร.บ.ปลอม
ลงพิมพ์ในเดลินิวส์ : 14 มกราคม 2562
ดร. รุจิระ บุนนาค
14 มกราคม 2562
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดการใช้รถใช้ถนนอุบัติเหตุบนท้องถนน ถือเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ผู้ที่รอดชีวิตบางรายอาจทุพพลภาพไปตลอดชีวิต บางรายอาจโชคดีที่บาดเจ็บไม่มาก รายงานของเว็บไซต์เวิลด์ แอตลาส เกี่ยวกับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลกปีพ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้ครองอันดับ 1 ที่มีอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 รายต่อประชากร 100,000 คน นับว่าเป็นอันดับหนึ่งที่ไม่น่าภูมิใจเลย
อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากประสบพบเจอ แม้ผู้ขับขี่ได้ใช้ความระมัดระวังในการขับขี่แล้ว แต่ถ้าอีกฝ่ายประมาท อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่ออุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้น สิ่งที่ผู้ประสบเหตุต้องการมากที่สุด คือ การเข้าถึงการรักษาพยาบาล หรือได้รับสิทธิประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 อย่างเร็วที่สุด
“ประกันภัย พ.ร.บ.” หรือบางทีเรียก “ใบ พ.ร.บ.” เป็นการประกันภัยภาคบังคับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) คุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เพราะเหตุประสบภัยจากรถ โดยให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที กรณีบาดเจ็บ หรือช่วยเป็นค่าปลงศพ กรณีเสียชีวิต (2) เป็นหลักประกันให้โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลว่า จะได้รับค่ารักษาพยาบาลในการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ (3) เป็นสวัสดิสงเคราะห์ที่รัฐมอบให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถ (4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกันภัยเข้ามีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยและครอบครัว
ผู้มีหน้าที่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. คือ เจ้าของรถ ผู้ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อ การฝ่าฝืนไม่จัดให้มีประกันภัย มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ประเภทรถที่ต้องทำประกันภัย คือ รถตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่ารถดังกล่าวจะเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก รถบดถนน รถอีแต๋น
เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้น ค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทที่รับประกัน คือ (1) ค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อหนึ่งคน (2) กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย (ทุพพลภาพ) เช่น ตาบอด หูหนวก เสียแขน ขา จำนวน 35,000 บาท ต่อหนึ่งคน กรณีบาดเจ็บและได้รับการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลตามข้อหนึ่ง และต่อมาทุพพลภาพตามข้อสอง ค่าเสียหายที่ได้รับรวมกันแล้ว จะไม่เกิน 65,000 บาท ต่อหนึ่งคน
กรณีเสียชีวิตจะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาทต่อหนึ่งคน ในกรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงตามข้อหนึ่งรวมกันแล้ว จะไม่เกิน 65,000 บาท ต่อหนึ่งคน
สำหรับค่าสินไหมทดแทนในส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้นนั้น บริษัทที่รับประกัน จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ของผู้ประสบภัยในนามผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย คือ (1) กรณีบาดเจ็บ แต่ไม่ทุพพลภาพ บริษัทจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายที่ผู้ประสบภัย สามารถเรียกร้องได้ตามมูลละเมิด แต่ไม่เกิน 80,000 บาท ต่อหนึ่งคน (2) กรณีที่ทุพพลภาพ บริษัทจะจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน (3) กรณีเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน (4) ในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน เป็นค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้น
นอกจากที่เจ้าของรถต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. ในแต่ละปีเจ้าของรถยังมีหน้าที่ที่ต้องชำระภาษีรถหรือต่อป้ายทะเบียน ทั้งนี้ มีเอกสารที่ใช้ คือ (1) ใบคู่มือจดทะเบียน (2) ประกันภัยพ.ร.บ. ที่ยังไม่หมดอายุอย่างน้อย 3 เดือน (3) ใบรับรองการตรวจสภาพรถ (ตรอ.) กรณีรถยนต์มากกว่า 7 ปี กรณีจักรยานยนต์มากกว่า 5 ปี (4) เอกสารตรวจรับรองติดตั้งแก๊ส กรณีติดตั้งแก๊ส
การชำระภาษีรถ หรือต่อทะเบียนรถประจำปี กฎหมายบังคับให้ เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถ ต้องแสดงหลักฐานว่า ประกันภัย พ.ร.บ. ที่ใช้กับรถที่จะต่อทะเบียนนั้น ยังอยู่ในระยะเวลาคุ้มครอง ซึ่งหมายความว่า ประกันภัย พ.ร.บ. ยังไม่หมดอายุนั่นเอง โดยมากจะเป็นส่วนท้ายของกรมธรรม์ที่ต้องฉีกไป เพื่อแสดงให้เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งพิจารณา หากประกัน พ.ร.บ. ยังมีผลใช้บังคับอยู่ เจ้าหน้าที่กรมการขนส่ง จึงจะต่อทะเบียนรถให้
ในบางกรณี เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถบางคนอาจมักง่ายไม่ยอมเสียเบี้ยประกันประกัน พ.ร.บ. จึงปลอมเอกสารโดยใช้วิธีถ่ายสำเนาเอกสารเป็นสี หรือทำขึ้นใหม่ด้วยการสแกนส่วนท้ายของประกัน พ.ร.บ. และแต่งใหม่ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อไปยื่นและตบตาเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งให้ต่อทะเบียนรถให้
หากมองในด้านดี อาจเป็นไปได้ว่า เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถ ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับประกัน พ.ร.บ. เพื่อนำแสดงเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก แต่อาจซื้อประกัน พ.ร.บ. โดยผ่านบุคคลอื่น ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้หลายช่องทาง และถูกหลอกลวงให้ซื้อประกัน พ.ร.บ. ปลอม ซึ่งถือว่า เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถตกเป็นผู้เสียหายด้วย
หากรถที่แล่นบนท้องถนนแล้วเกิดอุบัติเหตุ จนมีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต โดยที่รถไม่มีประกัน พ.ร.บ. ย่อมเกิดปัญหาขึ้นได้
ผู้ประสบภัยจะได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ที่จัดตั้งขึ้นตาม