การลงทุนในสตาร์ทอัพ
ลงพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ : 1 มกราคม 2562
ดร. รุจิระ บุนนาค
1 มกราคม 2562
Facebook : Rujira Bunnag
Twitter : @RujiraBunnag
ปัจจุบันนี้ กระแสสตาร์ทอัพกำลังมาแรง เพราะคนรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจของตนเอง และร่ำรวยในเวลาอันรวดเร็ว สตาร์ทอัพจึงตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ เนื่องจากสตาร์ทอัพใช้เงินลงทุนน้อย และสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นสิบๆ เท่าได้
สตาร์ทอัพเป็นที่นิยม จึงมีผู้พร้อมที่จะสนับสนุนเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพที่ดูดี น่าจะมีอนาคต ในประเทศไทยเองมีผู้พร้อมเข้าร่วม และให้การสนับสนุนเงินทุนแก่สตาร์ทอัพต่างๆแม้กระทั่งธนาคารพาณิชย์ เช่น บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพ ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งต่างประเทศและในประเทศ
สตาร์ทอัพที่ดีๆ บางธุรกิจอาจเริ่มต้น หรือได้แรงบันดาลใจจากห้องเรียน สถานศึกษา เช่น ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในชั้นเรียนคอมพิวเตอร์วิชาหนึ่ง ศาสตราจารย์ผู้สอนได้ให้นักศึกษาทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนารูปภาพบนโทรศัพท์มือถือ โดยมีผู้ช่วยสอนที่เพิ่งจบจากแสตนฟอร์ดและทำงานที่บริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งใกล้กับมหาวิทยาลัยมาช่วยสอน ต่อมาผู้ช่วยสอนคนนี้ได้สร้างโปรแกรมแบ่งปันรูปภาพบนมือถือขึ้นมาในชื่อของ Instagram ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล
ในหลักสูตรบริหารธุรกิจระดับปริญญาโท (MBA) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ให้นักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดโครงการธุรกิจของทางคณะ นักศึกษาที่ประสบปัญหาความไม่สะดวกในการเรียกรถแท็กซี่ได้เสนอโครงการแอพพลิเคชั่น (Application) เรียกรถแท็กซี่เข้าประกวด ซึ่งได้รับรางวัล ต่อมานักศึกษาคนนั้นได้นำโครงการนี้ออกมาสู่โลกธุรกิจ ใช้งานจริง ในชื่อของ Grab ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ไม่ใช่ว่าทุกสตาร์ทอัพจะไปได้ด้วยดีเสมอไป ส่วนใหญ่จะมีอัตราล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ เพราะผู้ที่สร้างนวัตกรรมและเป็นเจ้าของสตาร์ทอัพ อาจเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักประดิษฐ์มากกว่าเป็นนักธุรกิจ หรือบางสตาร์ทอัพดำเนินงานไปแล้วขาดเงินทุน หรือสตาร์ทอัพบางอย่างเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองกระแสบางเรื่องในช่วงเวลาสั้นๆ พอกระแสหมดจึงหมดความจำเป็นที่ต้องใช้
สตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียงและหลอกลวงระดับโลก ไม่มีใครเกินบริษัท Theranos ซึ่งเป็นบริษัททางการแพทย์ ให้บริการตรวจเลือดด้วยนวัตกรรมใหม่ที่สะดวกรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า ด้วยเครื่องมือที่ชื่อ Edison โดยอวดอ้างว่า ใช้เลือดปริมาณน้อย เช่น เจาะที่ปลายนิ้วไม่กี่หยด แต่สามารถตรวจเลือดได้ถึง 240 โรค ตั้งแต่โรคทั่วๆ ไปจนถึงโรคมะเร็ง และทราบผลรวดเร็ว ไม่ต้องรอนานหลายชั่วโมง หรือหลายวันแบบการตรวจแบบเก่า ซึ่งเป็นการพลิกโฉมหน้าวงการตรวจเลือดที่ต้องใช้เลือดเป็นหลอดๆและรอผลนาน
ผู้ก่อตั้งบริษัท Theranos คือ Elizabeth Holmes Holmes เป็นคนที่เรียนดีมาตั้งแต่เด็ก และสนใจในการประดิษฐ์คิดค้นสร้างความแปลกใหม่ที่โลกยังไม่มี เมื่อตอนเธออายุได้ 7 ปี Holmes ได้เคยทดลองประดิษฐ์เครื่อง Time Machine เพื่อย้อนเวลาหรือเดินทางไปในอนาคต ในคอมพิวเตอร์ของเธอจะเต็มไปด้วยงานออกแบบทางวิศวกรรม และเมื่อเธอจบชั้นมัธยม เธอได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสาขาทางด้านวิศวเคมี เพราะแรงบันดาลใจที่ปู่ทวดของเธอเคยเป็นศัลยแพทย์ผ่าตัด ความมุ่งมั่นที่สำคัญอย่างหนึ่งของเธอคือ เป็นเศรษฐีระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มหาวิทยาลัย Holmes ได้รับทุน President’s Scholar ซึ่งถือเป็นเกียรติ และเป็นเงินที่มอบให้เพื่อทำการวิจัย เธอได้จัดตั้งบริษัท Theranos ขึ้นมา และยื่นจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ตรวจเลือดคนไข้ และปรับยา ต่อมา Holmes ได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเป็นนักธุรกิจเต็มตัว เพื่อทำบริษัทตั้งแต่อายุ 19 ปี
กิจการของ Theranos เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในนวัตกรรมใหม่ด้านการตรวจเลือดนี้โดยคาดว่า จะมีมูลค่ามหาศาล จนมูลค่าของบริษัทเคยขึ้นไปถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.9 แสนล้านบาท Holmes ถือหุ้นในบริษัทอยู่ครึ่งหนึ่ง บริษัทมีทรัพย์สินประมาณ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท
Holmes ได้เป็นมหาเศรษฐี เธอได้ลงปกนิตยสารระดับโลกหลายฉบับ ได้พูดในรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียง ได้ขึ้นบรรยายสัมมนาร่วมเวทีเดียวกันกับอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน และมหาเศรษฐีแจ๊ค หม่า แห่งอาลีบาบา เธอมักจะใส่เสื้อคอเต่าสีดำแบบนายสตีฟ จ๊อบส์ แห่งบริษัทแอปเปิ้ล จนผู้คนเรียกเธอว่า สตีฟ จ๊อบส์ หญิง และมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่คาดหวังว่า เธอจะเป็นสตีฟ จ๊อบส์ คนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียงร้องเรียนจากแพทย์ คนไข้ กระทั่งการทักท้วงจากพนักงานของบริษัทเองว่า ผลเลือดที่บริษัทตรวจนั้นผิดพลาดไม่แม่นยำ ทุกครั้งที่มีการแสดงผลงานต่อสาธารณชน หรือตรวจสอบจากหน่วยงานอื่น บริษัทจะใช้วิธีการต่างๆ เช่น เตรียมผลเลือดไว้ล่วงหน้าแล้ว หรือตรวจเลือดด้วยเครื่องมือของบริษัทอื่นแบบเดิม แล้วส่งผลเลือดดังกล่าวให้แทนอีกทั้งปริมาณเลือดที่บริษัทอ้างว่า ใช้เล็กน้อย เมื่อทำการตรวจจริงบริษัทจะนำไปใส่สารเคมีเพิ่มปริมาณขึ้นมาก่อนตรวจ
นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยจากแพทย์ และผู้อยู่ในวงการจำนวนมากเกี่ยวกับการทำงานของเครื่อง Edison ซึ่งไม่เคยมีงานวิจัยหรือข้อมูลใดๆ Holmes อ้างว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ Holmes เคร่งครัดในเรื่องการรักษาความลับมาก บรรดาผู้ที่ไปติดต่อที่สำนักงานใหญ่บริษัทของเธอจะต้องลงนามในสัญญาไม่เปิดเผยความลับด้วยทุกคน และจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยเดินประกบตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ตอนที่ผู้นั้นเข้าห้องน้ำ
เมื่อทางการคือ FDA หรือหน่วยราชการที่ควบคุมอาหารและยาของสหรัฐ และหน่วยงานอื่นๆ เข้าสอบสวนจึงทราบว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องหลอกลวง เครื่องตรวจเลือดดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริง ห้องแล็บตรวจเลือดของบริษัทถูกปิด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินคดีแพ่งกับ Holmes ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน Holmes ได้ตกลงยอมความและชำระค่าปรับ 500,000 เหรียญสหรัฐ และโอนหุ้นคืน 18.9 ล้านหุ้น
พนักงานอัยการสหรัฐยังคงฟ้องดำเนินคดีอาญา Holmes ต่อไปในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเธออาจถูกจำคุกไปตลอดชีวิต และอาจถูกปรับเกือบ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้มีการประเมินทรัพย์สินของเธอว่า มีมูลค่าเป็นศูนย์ และบริษัทต้องยุติกิจการ ชำระเงินคืนเจ้าหนี้ และเลิกบริษัทในเร็วๆ นี้
หนังสือเกี่ยวกับบริษัทของ Holmes และวิธีการฉ้อโกงที่ชื่อว่า Bad Blood เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่นายบิล เกตส์ มหาเศรษฐีของบริษัทไมโครซอฟท์แนะนำให้อ่านในปีนี้ และเรื่องของ Holmes กับบริษัทของเธออาจถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย
การลงทุนในสตาร์ทอัพ จึงมีข้อพึงระวัง
จำนวนการอ่าน 272 ครั้ง