สหภาพแรงงานปกป้องชาติ
ลงพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ : 20 พฤศจิกายน 2561
20 พฤศจิกายน 2561
เมื่อไม่นานมานี้ อนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จ่ายค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท ในคดีการปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช
คดีนี้สืบเนื่องมาจากBEM ได้ยื่นข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัย เรียกร้องให้ กทพ. ชำระเงินค่าส่วนต่างรายได้ค่าผ่านทาง ตามประกาศกระทรวงคมนาคมกับอัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดดังกล่าวด้วยเหตุ กทพ. ปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางไม่สอดคล้องกับสัญญาสัมปทาน
ก่อนหน้านี้ไม่นานกทพ. เพิ่งจะแพ้คดี BEM โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ กทพ. จ่ายค่าชดเชยรายได้ให้บริษัทในเครือของ BEM พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินกว่า 5 พันล้านบาท เพราะมีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต โดยกรมทางหลวง อันเป็นการแข่งขันกับทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ของบริษัทดังกล่าว ทำให้รายได้ค่าผ่านทางลดลงจากประมาณการตามสัญญาที่ทำไว้กับ กทพ.
เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดดังกล่าวและ กทพ. จะชำระค่าเสียหายให้ BEM สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ออกมาติดตามว่า ทำไม กทพ.ต้องยอมจ่ายเงินดังกล่าวให้ภาคเอกชน
นอกจากนี้สหภาพแรงงานดังกล่าว ยังเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือชำระค่าชดเชยการก่อสร้างโครงการทางด่วนระหว่าง กทพ. กับ BEM ที่ยังอยู่ในชั้นศาล เพราะค่าเสียหายอาจสูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท โดยกล่าวว่า เป็นการไม่ยุติธรรมกับ กทพ. เพราะ กทพ. ทำตามนโยบายต่างๆ ที่ออกมาจากคณะรัฐมนตรีมาโดยตลอด
ปกติแล้วสหภาพแรงงานของรัฐวิสาหกิจนั้นจะออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องค่าจ้างสวัสดิการ ค่าตอบแทนต่างๆ ของพนักงานโดยตรง แต่การที่สหภาพแรงงานออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องที่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่พนักงานทำงานอยู่ แม้จะเป็นการส่งผลโดยอ้อมต่อผลตอบแทนของสมาชิกสหภาพแรงงานบ้างก็ตาม แต่ยังเป็นการช่วยรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานและประเทศชาติด้วย
สหภาพแรงงานของกทพ. ดังกล่าวนี้ ยังเคยเสนอกระทรวงคมนาคมขอให้ทบทวนเรื่องการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของประเทศ (Thailand Future Fund) ในโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ด้านตะวันออก ช่วงเกษตรนวมินทร์ต่อไปยังมอเตอร์เวย์ ของ กทพ. เนื่องจากมองว่า ผลตอบแทนที่กองทุนให้ประมาณ 8% นั้นสูงเกินไป อาจสร้างภาระทางการเงินให้ กทพ.
ยังมีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆอีกที่มีการออกมาเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน ในลักษณะของการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ รวมถึงผลประโยชน์ของประชาชน และชาติบ้านเมือง
ตัวอย่างเช่นสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ภาคใต้เขต 3 ได้ประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้ โดยคัดค้านการแปรรูปการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นบริษัทเอกชน เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว
เหตุผลคือแม้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำการค้าหากำไรให้ประเทศ แต่มีหน้าที่บริการประชาชนด้านสาธารณูปโภคด้วยเช่นกัน แม้ในพื้นที่ดังกล่าว จะไม่สร้างผลกำไร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังคงเดินสาย และจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ เพื่อให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้ หากแปรรูปเป็นบริษัทเอกชน บริษัทย่อมต้องทำเพื่อผลกำไรสูงสุด เมื่อไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ในพื้นที่ดังกล่าว อาจขึ้นราคาค่ากระแสไฟฟ้า และจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
โครงการดังกล่าวยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่เปิดโอกาสให้พนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และประชาชนได้ชี้แจง แสดงเหตุผล หรือทราบข้อดีข้อเสียของโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด
นอกจากนี้ในส่วนของกิจการโทรคมนาคม ยังมีกรณีที่กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ประท้วงเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทลูกของ TOT จำนวน 2 บริษัท กล่าวคือ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต จำกัด หรือ NGDC และโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด หรือ NBN ซึ่งต้องมีการโอนทรัพย์สินของ TOT ให้กับบริษัทลูก
ประเด็นที่ทางสหภาพแรงงานกังวลคือเมื่อมีการโอนทรัพย์สินของ TOT ไปให้บริษัทลูกสำเร็จเรียบร้อยแล้ว TOT อาจมีเครื่องมือไม่เพียงพอในการทำงาน และต้องเช่าจากบริษัทลูกอีกชั้นหนึ่ง อันเป็นภาระทางการเงินให้กับ TOT และทรัพย์สินต่างๆ ของ TOT นั้นเป็นของรัฐ การที่จะโอนให้บริษัทลูกที่มีเอกชนร่วมทุนอยู่ด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง
การโอนทรัพย์สินดังกล่าวยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายรองรับให้โอนได้ มีเพียงมติคณะรัฐมนตรี และการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว ยังเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับ TOT เพราะงานบางอย่าง TOT ทำอยู่ ดังนั้น ด้วยเหตุที่กล่าวมา จึงควรเพิกถอนการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว
มีข้อสังเกตว่าการประท้วงของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยนั้น เป็นไปอย่างเรียบร้อย เคารพกฎหมาย และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน มีการชุมนุม ถือป้าย ติดป้าย ยื่นหนังสือ หรือขึ้นเวทีปราศรัย เท่านั้น แตกต่างจากบางประเทศ
ในต่างประเทศนั้นบางครั้งการประท้วงของรถไฟ หรือสายการบินนั้น เป็นการหยุดให้บริการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง และมีระยะเวลายืดเยื้อหลายวัน ทั้งพนักงานขับรถไฟ นักบิน พนักงานประจำเครื่องบิน และพนักงานภาคพื้นดิน ต่างผละงาน เช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเดินทางสัญจรได้ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
การที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของไทยออกมาเคลื่อนไหวติดตาม เรื่องต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจของตนจึงเป็นเรื่องที่ดี และหากยิ่งมีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจออกมาเคลื่อนไหว ติดตาม เรื่องต่างๆดังกล่าวข้างต้นมากขึ้นเท่าใด ยิ่งเกิดผลดีกับส่วนรวม เพราะเป็นกลไกในการตรวจสอบการทำงาน การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ด้วย
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก
ก่อนหน้านี้ไม่นาน
เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดดังกล่าว
นอกจากนี้
ปกติแล้วสหภาพแรงงานของรัฐวิสาหกิจนั้นจะออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องค่าจ้าง
สหภาพแรงงานของ
ยังมีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น
เหตุผลคือ
โครงการดังกล่าว
นอกจากนี้
ประเด็นที่ทางสหภาพแรงงานกังวลคือ
การโอนทรัพย์สินดังกล่าว
มีข้อสังเกตว่า
ในต่างประเทศนั้น
การที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของไทยออกมาเคลื่อนไหว
จำนวนการอ่าน 61 ครั้ง